ชะมดต้น

Abelmoschus moschatus Medik. subsp. Moschatus

ชื่ออื่น ๆ
เกี้ย (จันทบุรี); เทียนชะมด, ฝ้ายผี (กลาง)
ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเล็ก ลำต้น ก้านใบ และก้านดอกมักมีขนรูปดาวขนาดเล็กและขนแข็งชี้ลงหรืออาจมีขนแข็งคล้ายหนาม ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๓-๗ แฉก หรือ ๓-๗ เหลี่ยม ใบใกล้ยอดมักเป็นรูปหัวลูกศรหรือรูปเงี่ยงใบหอก หูใบร่วงง่าย รูปแถบหรือรูปเส้นด้าย ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีเหลืองกลางดอกสีม่วงแดง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี มี ๕ เหลี่ยม มีขนแข็ง เมล็ดคล้ายรูปไต มีจำนวนมาก

ชะมดต้นเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเล็ก สูง ๐.๔-๒ ม. ลำต้น ก้านใบ และก้านดอกมักมีขนรูปดาวขนาดเล็กและขนแข็งชี้ลง หรืออาจมีขนแข็งคล้ายหนาม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๓-๗ แฉก หรือ ๓-๗ เหลี่ยม กว้างและยาว ๔.๕-๒๖ ซม. แฉกรูปแถบหรือรูปใบหอกกลับ ปลายแฉกแหลม โคนเว้ารูปหัวใจขอบหยักซี่ฟันแกมจักฟันเลื่อย ใบใกล้ยอดมักเป็นรูปหัวลูกศรหรือรูปเงี่ยงใบหอก มีเส้นโคนใบ ๓-๗ เส้น ไม่มีต่อมที่เส้นกลางใบ ด้านบนมีขนธรรมดา ด้านล่างมีขนรูปดาวและขนธรรมดาปะปนกัน ตามเส้นใบมีขนสาก ก้านใบยาว ๔-๒๘ ซม. หูใบร่วงง่าย รูปแถบหรือรูปเส้นด้าย ยาว ๕-๘ มม. มีขน

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกเรียวเล็กยาว ๕-๗ ซม. ไม่มีข้อต่อ สั้นกว่าก้านใบ ริ้วประดับ ๗-๙ ริ้ว ยาว ๑-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย มีขน กลีบเลี้ยงยาว ๒.๕-๓ ซม.


เชื่อมติดกันเป็นแผ่นคล้ายกาบ ปลายหยักซี่ฟัน ๓-๕ หยัก มีรอยแยกเป็นแนวยาวทำให้กาบเบี้ยวไปข้างหนึ่ง ด้านนอกมีขนรูปดาวขนาดเล็ก เรียงเป็นแนวยาว ด้านในมีขนคล้ายไหม วงกลีบดอกสีเหลืองกลางดอกสีม่วงแดง เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๙ ซม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๕.๕-๙.๕ ซม. ปลายกลมมน โคนมน มีขนเล็กน้อย ขอบเรียบ ขอบใกล้โคนกลีบมีขน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีเหลืองอ่อน ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูที่เป็นอิสระยาวประมาณ ๐.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนานสั้น กว้างและยาวประมาณ ๐.๕ มม. ติดทั่วหลอด เกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาว ๕-๘ มม. มีขนหนาแน่น ที่ปลายมีขนยาว มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวปลายโผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้เล็กน้อย แยกเป็น ๕ แฉก แฉกยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง มีขน

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรีมี ๕ เหลี่ยมตามยาว กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๘ ซม.ปลายแหลม โคนมน มีขนแข็งและมีขนรูปดาวขนาดเล็กปน เมื่อผลแก่ขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ด้านในผิวเป็นมัน เมล็ดคล้ายรูปไต กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๓.๕-๔ มม. มีจำนวนมาก มีลายเป็นสันออกจากศูนย์กลางโค้งไปตามเมล็ด

 ชะมดต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามชายป่าดิบ ตามที่รกร้าง ที่ชุ่มชื้นที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

 ประโยชน์ เมล็ดใช้เป็นสมุนไพร น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำน้ำหอม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะมดต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Abelmoschus moschatus Medik. subsp. Moschatus
ชื่อสกุล
Abelmoschus
คำระบุชนิด
moschatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Medikus, Friedrich Kasimir
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. Moschatus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1736-1808)
ชื่ออื่น ๆ
เกี้ย (จันทบุรี); เทียนชะมด, ฝ้ายผี (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์