ชะงดหนู

Rhaphidophora lobbii Schott

ไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี เป็นพืชกึ่งอิงอาศัย ลำต้นมีขนสากถึงขนหยาบ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแคบ รูปรีแกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ยอดเป็นช่อเดี่ยวกาบหุ้มช่อดอกสีเหลือง ด้านนอกมีขนละเอียดประปราย ดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ช่อผลรูปคล้ายทรงกระบอก เนื้อผลสีเหลือง เมล็ดสีเทาอ่อน

ชะงดหนูเป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ยาวได้ถึง ๕ ม. เป็นพืชกึ่งอิงอาศัย ช่วงแรกของการเจริญเติบโตมีรากอยู่ในดิน ต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นพืชอิงอาศัย มีรากเกาะเลื้อย ลำต้นเรียว เป็นสี่เหลี่ยมถึงรูปทรงกระบอก แตกกิ่งมาก มีขนสากถึงขนหยาบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแคบ รูปรีแกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๖-๒๔ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเป็นมันเล็กน้อย ด้านล่างสีอ่อนกว่า เมื่อแห้งด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกับก้านใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๑๐ ซม. เป็นร่องทางด้านบน ปลายและโคนป่อง ก้านใบเป็นกาบ มีรอยแผลกาบใบเป็นรูปวงแหวนและขยายยาวไปถึงปลายก้าน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ยอดเป็นช่อเดี่ยว มีใบลดรูป ไม่มีแผ่นใบรองรับ ร่วงง่าย ก้านช่อดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. กาบหุ้มช่อดอกสีเหลือง รูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. หนาและมีเนื้อ ปลายเป็นจะงอยยาวด้านนอกมีขนละเอียดประปราย เมื่อร่วงมีรอยแผลกาบหุ้มช่อดอก ส่วนที่เป็นช่อเชิงลดสีเหลืองอมขาวเรียว รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีดอกจำนวนมาก เรียงเวียนแน่นรอบแกนช่อดอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกกัน ก้านชูอับเรณู รูปขอบขนานแกมรูปแถบ อับเรณูสั้นกว่าก้านชูอับเรณู แกนอับเรณูเรียว พูอับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนน้อยถึงมากก้านยอดเกสรเพศเมียหนา รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแกมรูปหกเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๒.๔ มม. ปลายตัด ยอดเกสรเพศเมียเล็กมากเห็นเป็นจุด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ มม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ช่อผลรูปคล้ายทรงกระบอก สุกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. เนื้อผลสีเหลือง เมล็ดสีเทาอ่อน

 ชะงดหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าบึงน้ำจืดที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะสุมาตราเกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และสุลาเวสี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะงดหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhaphidophora lobbii Schott
ชื่อสกุล
Rhaphidophora
คำระบุชนิด
lobbii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Schott, Heinrich Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1794-1865)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย