ชลลดา

Akebia quinata (Thunb. ex Houtt.) Decne.

ไม้เถาเนื้อแข็ง ผลัดใบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียนหรือเรียงเวียนถี่เป็นกระจุกที่กิ่งสั้น มีใบย่อย ๓-๗ ใบ รูปขอบขนาน รูปไข่กลับถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบบนกิ่งสั้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้สีม่วงอ่อน บางครั้งสีเขียวอ่อนหรือสีขาว ดอกเพศเมียสีม่วงเข้มหรือสีม่วงเข้มแกมน้ำตาลเข้ม บางครั้งมีสีเขียวอ่อนหรือสีขาวผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มีเนื้อ สีม่วงอมเทา เมื่อแก่สีม่วง รูปทรงกระบอกหรือรูปทรงรี เมล็ดจำนวนมาก ค่อนข้างแบน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ สีน้ำตาลถึงสีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

ชลลดาเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ผลัดใบ ต้นสีน้ำตาลอมเทา รูปทรงกระบอก เรียว มีช่องอากาศรูปกลมขนาดเล็ก เห็นชัด ตางันมีเกล็ดสีน้ำตาลอ่อนแกมแดงเรียงซ้อนเหลื่อมหุ้ม ติดทน

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียนหรือเรียงเวียนถี่เป็นกระจุกที่กิ่งสั้น มีใบย่อย ๓-๗ ใบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ ใบย่อยด้านข้างกว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. ใบย่อยใบกลางกว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๗ ซม. ปลายมนกลม มักเว้าตื้นและมีติ่งแหลม โคนมนกลมถึงรูปลิ่มกว้าง ขอบเรียบเป็นคลื่นหรือเว้าเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล ก้านใบเรียว ยาว ๔.๕-๑๐ ซม. ก้านใบย่อยเรียว ยาว ๐.๘-๒.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบบนกิ่งสั้น ยาว ๖-๑๒ ซม. มีใบประดับคล้ายเกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อม ติดทน ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มี ๔-๑๕ ดอก ออกที่ปลายช่อก้านดอกเรียว ยาว ๐.๗-๑ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๒-๑.๖ ซม. กลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน บางครั้งสีเขียวอ่อนหรือสีขาว มี ๓-๕ กลีบ รูปขอบขนานถึงรูปไข่กว้างหรือรูปรีคุ่ม กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๕-๙ มม. ปลายมน เมื่อดอกบานโค้งงอขึ้น เกสรเพศผู้ ๖-๗ เกสร ยาว ๔-๕ มม. เมื่อเริ่มบานตรง ต่อมาโค้งงอขึ้น ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปทรงกระบอก มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ๓-๖ เกสร ขนาดเล็ก ดอกเพศเมียมี ๑-๕ ดอก ขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๓ ซม. ออกที่โคนช่อ ก้านดอกเรียวยาว ๒-๕ ซม. กลีบเลี้ยงสีม่วงเข้มหรือสีม่วงแกมน้ำตาลเข้ม บางครั้งมีสีเขียวหรือสีขาว รูปรีกว้างหรือเกือบกลม กว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. โค้งงอขึ้น มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๖-๙ เกสร เกสรเพศเมียแยกกัน มี ๓-๗ เกสร หรืออาจมีได้ถึง ๙ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มีเนื้อ สีม่วงอมเทา เมื่อแก่สีม่วง รูปทรงกระบอกหรือรูปทรงรี ตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. เมล็ดจำนวนมาก ค่อนข้างแบน รูปขอบขนานแกมรูปไข่สีน้ำตาลถึงสีดำเป็นมัน มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

 ชลลดาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป พบตามพื้นที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

 ประโยชน์ ราก ลำต้น และผลใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชลลดา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Akebia quinata (Thunb. ex Houtt.) Decne.
ชื่อสกุล
Akebia
คำระบุชนิด
quinata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter
- Houttuyn, Maarten (Martin)
- Decaisne, Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Houttuyn, Maarten (Martin) (1720-1798)
- Decaisne, Joseph (1807-1882)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อารีย์ ทองภักดี