ชมพู่เสม็ด

Aglaia rubiginosa (Hiern) Pannell

ชื่ออื่น ๆ
ยามูกือแล (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้น ตามโคนต้นที่มีขนาดใหญ่มักมีพูพอน เปลือกสีน้ำตาลอมชมพูอ่อนหรือสีน้ำตาลแกมเทามักล่อนเป็นแผ่น กิ่งสีน้ำตาล มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง มักมีรอยแผลใบขนาดใหญ่ มียางสีขาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๑๕-๒๑ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อยรูปใบหอกหรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกเล็กมาก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ สีเหลืองอมชมพู สีขาว สีเหลือง สีแดง หรือสีม่วง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง สุกสีแดง เมล็ดรูปทรงรีหรือเป็นเสี้ยวสีน้ำตาล มีเนื้อฉ่ำสีแดงอ่อนหุ้มเมล็ด

ชมพู่เสม็ดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. ตามโคนต้นที่มีขนาดใหญ่มักมีพูพอนสูงได้ถึง ๑ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมชมพูอ่อนหรือสีน้ำตาลแกมเทา มักล่อนเป็นแผ่น กว้าง ๒-๓ ซม. กิ่งสีน้ำตาล มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง มักมีรอยแผลใบขนาดใหญ่เห็นได้ชัด มียางสีขาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน กว้างได้ถึง ๕๐ ซม. ยาวได้ถึง ๘๐ ซม. มีใบย่อย ๑๕-๒๑ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม มีติ่งแหลมยาวได้ถึง ๑ ซม. โคนมนกลมหรือเว้ารูปหัวใจ มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน มีหลุมเล็ก ๆ ทั่วไป ด้านล่างมีเกล็ดและขนรูปดาวสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๒๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบนูนเห็นเด่นชัดทางด้านล่างเส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นไม่ชัด ก้านใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ด้านบนแบนราบเล็กน้อย ด้านล่างโค้งนูน โคนก้านป่อง ก้านใบย่อยที่อยู่ข้างแกนกลางใบยาวได้ถึง ๑ ซม. ก้านใบย่อยที่ปลายแกนยาวได้ถึง ๒ ซม. ทั้งก้านใบ แกนกลางใบ และก้านใบย่อยมีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๗๐ ซม. มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง ก้านช่อยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านดอกยาวได้ถึง ๔ มม. มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยขนาดเล็กมาก ปลายเป็น ๓ หยัก รูปสามเหลี่ยม มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง กลีบดอก ๓ กลีบ รูปไข่ ขนาดเล็กยาวประมาณ ๑ มม. โดยทั่วไปมักยาวเป็น ๒ เท่าของความยาวกลีบเลี้ยง ปลายกลีบงุ้มเข้า สีเหลืองอมชมพู สีขาว สีเหลือง สีแดง หรือสีม่วง ขอบกลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๓ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบดอก ปลายหลอดหยักแหลม ๓ หยัก และมีอับเรณูติดที่ปลายหยักอับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มีขนรูปดาวหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก รูปรี ด้านข้างมีสัน ๖ สัน ปลายเป็น ๓ พู

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปไข่กลับ กว้างได้ถึง ๕ ซม. ยาวได้ถึง ๖ ซม. มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง สุกสีแดงเมล็ดรูปทรงรีหรือเป็นเสี้ยว สีน้ำตาล มีเนื้อฉ่ำสีแดงอ่อนหุ้มเมล็ด

 ชมพู่เสม็ดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพู่เสม็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aglaia rubiginosa (Hiern) Pannell
ชื่อสกุล
Aglaia
คำระบุชนิด
rubiginosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hiern, William Philip
- Pannell, Caroline M.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hiern, William Philip (1839-1925)
- Pannell, Caroline M. (fl. 1982)
ชื่ออื่น ๆ
ยามูกือแล (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์