ชมพู่น้ำ

Syzygium siamense (Craib) Chantar. et J. Parn.

ชื่ออื่น ๆ
ชมพู่ค่าง (ตรัง); หว้าปลอก (นครราชสีมา)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ เส้นขอบในข้างละ ๑ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีแดง สีชมพูอมแดง หรือสีเขียวอ่อนพบน้อยที่มีสีขาว ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ ปลายผลมีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนเมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปกลมแป้น มี ๑-๓ เมล็ด

 ชมพู่น้ำเป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๕ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก เปลือกเรียบ บางครั้งเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๙-๒๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนกลมมน เว้ารูปหัวใจ หรือบางครั้งรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๔ เส้น เส้นขอบในข้างละ ๑ เส้น ก้านใบยาว ๓.๕-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๕ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๒-๖ ดอก ก้านช่อยาวประมาณ ๕ มม. แกนช่อรูปทรงกระบอก ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. ดอกสีแดง สีชมพูอมแดง หรือสีเขียวอ่อน พบน้อยที่มีสีขาวฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร สีชมพูหรือสีม่วง ยาว ๑-๑.๗ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ แฉก แฉกชั้นในขนาดใหญ่กว่าชั้นนอก แต่ละแฉกรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖.๕ มม. ขอบใสกลีบดอก ๔ กลีบ แยกกันเป็นอิสระ สีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๔-๑.๗ ซม. โคนหนา ขอบบางใส แผ่นกลีบมีต่อมจำนวนมากเกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกันเป็นอิสระ เกสรรอบนอกยาวกว่ารอบใน อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูเรียวสีแดง สีชมพู หรือสีเขียวอ่อน พบน้อยที่มีสีขาว รอบนอกยาว ๒-๓ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๓.๗-๔.๒ ซม. ยื่นเหนือกลุ่มเกสรเพศผู้ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปกลมแป้นมี ๑-๓ เมล็ด

 ชมพู่น้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบแล้ง มักขึ้นบริเวณน้ำตกและริมลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพู่น้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium siamense (Craib) Chantar. et J. Parn.
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
siamense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Chantaranothai, Pranom
- Parnell, John Adrian Naicker
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Chantaranothai, Pranom (1955-)
- Parnell, John Adrian Naicker (1954-)
ชื่ออื่น ๆ
ชมพู่ค่าง (ตรัง); หว้าปลอก (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย