ชมพู่นกปักษ์ใต้

Syzygium pseudoformosum (King) Merr. et L. M. Perry

ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก ไม่มีเส้นขอบใน ก้านใบบวม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร เกสรเพศผู้จำนวนมากผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

ชมพู่นกปักษ์ใต้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก เปลือกสีเทาอมขาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๑๒.๕ ซม. ยาว ๑๕.๕-๓๒ ซม. ปลายแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบนเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ไม่มีเส้นขอบในก้านใบบวม ยาว ๑-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๓ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๔-๗ ดอก ก้านช่อยาว ๓-๔ มม. แกนช่อรูปทรงกระบอก ไม่มีก้านดอก ดอกสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. กลีบดอก ๔ กลีบ แยกกันเป็นอิสระ รูปกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๓ ซม. โคนหนา แผ่นกลีบมีต่อมจำนวนมาก เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกันเป็นอิสระ เกสรรอบนอกยาวกว่ารอบใน อับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านชูอับเรณูเรียวสีขาวหรือสีชมพูอ่อน รอบนอกยาว ๓.๕-๔ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ยื่นเหนือกลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

 ชมพู่นกปักษ์ใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพู่นกปักษ์ใต้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium pseudoformosum (King) Merr. et L. M. Perry
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
pseudoformosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
- Merrill, Elmer Drew
- Perry, Lily May
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George (1840-1909)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
- Perry, Lily May (1895-1992)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย