ชมพูภูหิน

Didymocarpus inflatus J. F. Maxwell et Nangngam

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นค่อนข้างฉ่ำน้ำ ทิ้งใบและกิ่งในฤดูแล้ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบที่อยู่ตรงข้ามมักมีขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุก โปร่ง ออกที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมแดงหรือสีแดงแกมม่วงอมแดงอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงรี มีจำนวนมาก ผิวค่อนข้างขรุขระและละเอียด

 ชมพูภูหิน เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๓๐-๖๐ ซม.ลำต้นตั้งตรง ค่อนข้างฉ่ำน้ำ แตกกิ่งโปร่ง ทุกส่วนมีขนต่อมหลายเซลล์ขนาดเล็กหนาแน่น ทิ้งใบและกิ่งในฤดูแล้ง เหลือเพียงกระจุกใบอ่อนขนาดเล็กใกล้ปลายยอดรากเป็นกระจุกฝอย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบที่อยู่ตรงข้ามมักมีขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่ กว้าง ๓-๑๑ ซม. ยาว ๖-๑๙ ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจหรือมนมักเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยหรือจักฟันเลื่อยซ้อน จักไม่เท่ากัน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนต่อมหลายเซลล์ประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑-๑๔ ซม. ก้านของใบล่างยาวกว่าก้านของใบที่อยู่ด้านบน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก โปร่ง ออกที่ปลายยอดช่อยาว ๑๔-๑๙ ซม. เกลี้ยง ก้านช่อยาว ๕-๘ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. ใบประดับและใบประดับย่อยสีขาว คุ่ม รูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลมกว้างประมาณ ๑.๔ ซม. ยาวประมาณ ๘ มม. ร่วงง่าย


ดอกสีขาวแกมแดงหรือสีแดงแกมม่วงอมแดงอ่อนกลีบเลี้ยงสีขาวอมชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปคล้ายระฆัง กว้าง ๗-๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนหลอดป่อง เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายแหลมกลีบดอกรูปคล้ายปากแตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๔ ซม. ส่วนที่เชื่อมกันของหลอดซีกล่างยาวกว่าซีกบน โคนหลอดครึ่งล่างคล้ายรูปทรงกระบอกแคบ ด้านนอกเป็นสันแคบตามแนวยาวโคนหลอดครึ่งบนกว้างและผายออก ด้านข้างมีรอยบุ๋มขนาดใหญ่ ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก รูปคล้ายหัวใจกลับหรือรูปครึ่งวงกลม มักไม่สมมาตร กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ติดอยู่ใกล้กึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสีขาวหรือสีม่วงอมแดงอ่อน ค่อนข้างงอ ยาวประมาณ ๘ มม. อับเรณูสีขาวนวล รูปขอบขนาน

กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน ลดรูปเหลือเป็นติ่ง ยาว ๒-๔ มม. อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. สีเขียว เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. สีเขียวอ่อน เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแผ่เป็นแผ่น ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ ซม. เกลี้ยงและค่อนข้างเป็นมันมีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงรี มีจำนวนมากผิวค่อนข้างขรุขระและละเอียด

 ชมพูภูหินเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามหน้าผาหินที่ชื้นและค่อนข้างร่มรำไร ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ม.ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูภูหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Didymocarpus inflatus J. F. Maxwell et Nangngam
ชื่อสกุล
Didymocarpus
คำระบุชนิด
inflatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Maxwell, James F.
- Nangngam, Pranee
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Maxwell, James F. (1945-2015)
- Nangngam, Pranee (fl. 2013)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ