ชมพูภูคา

Bretschneidera sinensis Hemsl.

ไม้ต้น เปลือกเรียบ สีเทา แตกกิ่งโปร่ง ตามกิ่งมีช่องอากาศทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงเวียน มีใบย่อย ๙-๑๗ ใบ เรียงตรงข้ามหรือกึ่งตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ด้านล่างมีนวล หูใบร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีชมพู ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปกระสวย เมล็ดรูปทรงรี

ชมพูภูคาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. เปลือกเรียบ สีเทา แตกกิ่งโปร่ง ตามกิ่งมีช่องอากาศทั่วไปกิ่งอ่อน แกนช่อใบ และแกนช่อดอกมีขนละเอียดสั้นนุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๓๐-๘๐ ซม. มีใบย่อย ๙-๑๗ ใบ เรียงตรงข้ามหรือกึ่งตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๘-๒๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ไม่สมมาตรในใบอ่อน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบบางเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบอาจมีขนเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ก้านใบย่อยด้าน


ข้างสั้นหรือไร้ก้าน ก้านใบย่อยใบปลายยาวประมาณ ๒ ซม. หูใบร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ดอกสีชมพู มีเส้นกลีบสีชมพูเข้มตามยาว กว้างและยาว ๓.๕-๔ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. มีขนประปราย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๒ ซม. มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ ติดอยู่บนผนังกลีบเลี้ยงรูปไข่กลับกว้างหรือรูปเกือบกลม คุ่มโค้ง กว้างและยาว ๑.๘-๒ ซม. ปลายมนกลม โคนค่อย ๆ สอบเรียวจนเป็นก้านกลีบ ยาวครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบดอกเกสรเพศผู้ ๘ เกสร อยู่ติดกันเป็นกลุ่ม ก้านเกสรโค้งแนบกลีบดอกด้านบนและปลายโค้งเข้า ก้านชูอับเรณูอวบหนา รูปคล้ายทรงกระบอก ยาว ๒.๕-๓ ซม. มีขนสั้นนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม ยาว ๓-๔ มม. มีขนสั้นนุ่ม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปกระบอง ยาว ๓.๕-๔ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปกระสวย กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม. สีเขียวอมน้ำตาลก้านผลยาวประมาณ ๔ ซม. เมล็ดรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มี ๓-๖ เมล็ด

 ชมพูภูคาจัดเป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบเขาต่ำ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและเวียดนามตอนเหนือ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูภูคา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bretschneidera sinensis Hemsl.
ชื่อสกุล
Bretschneidera
คำระบุชนิด
sinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hemsley, William Botting
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1924)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ