ชมพูพิศมร

Spathoglottis hardingiana C. S. P. Parish et Rchb. f.

กล้วยไม้ดิน เจริญทางด้านข้าง มีหัวที่ผิวดินเจริญอยู่บนเหง้าที่เป็นเส้นสั้นและแยกแขนง ต้นเรียวและสั้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะออกทางด้านข้างของโคนหัว เป็นช่อตั้ง ดอกในช่อโปร่ง สีชมพูสดหรือสีชมพูอมม่วง กลีบและเส้าเกสรยาวเกือบเท่ากัน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง

ชมพูพิศมรเป็นกล้วยไม้ดิน เจริญทางด้านข้าง มีหัวที่ผิวดินเจริญอยู่บนเหง้าที่เป็นเส้นสั้นและแยกแขนง หัวรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ต้นเรียวและสั้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ มี ๒ ใบต่อต้น รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือสอบแหลม โคนรูปลิ่มและสอบเรียวเป็นก้านขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง มีแนวรอยพับจีบตามยาวตลอดใบ เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกทางด้านข้างของโคนหัว เป็นช่อตั้ง ก้านช่อเรียวแต่ค่อนข้างแข็งสีแดง ยาว ๑๕-๒๐ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับเรียงเป็นระยะห่างกันตลอดก้าน รูปใบหอก กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. แกนช่อยืดตัวไปตามการเจริญของดอก ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ดอกในช่อโปร่ง มี ๘-๑๐ ดอก ก้านดอกรวมทั้งรังไข่มีสีชมพูอ่อน เรียว ยาว ๒.๕-๓ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย ดอกสีชมพูสดหรือสีชมพูอมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ประมาณ ๓ มม. ยาว ๑.๒-๑.๓ ซม. ปลายแหลมและโค้งเข้าเล็กน้อย กลีบคู่ข้างรูปคล้ายกลีบบนแต่กว้าง ๔-๕ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างคล้ายกลีบเลี้ยงบน กลีบดอกที่เป็นกลีบปากยาวประมาณ ๑.๕ ซม. แยกเป็น ๓ ช่วง ช่วงปลายรูปแถบต้นและใบ


ปลายกว้างและมน กว้างประมาณ ๑.๒ มม. ยาว ๗-๘ มม. ช่วงกลางสั้นและมีแผ่นเนื้อเยื่อสีเหลืองค่อนข้างหนา ๒ แผ่น อยู่ในแนวตั้ง มีจุดประสีชมพูเข้ม แต่ละแผ่นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมนและตัดเอียงเล็กน้อย

กลีบปากช่วงโคนรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู กว้างและยาวประมาณ ๔ มม. เส้าเกสรเรียว โค้ง ยาว ๑.๒-๑.๓ ซม. ช่วงปลายกว้าง ขอบด้านหน้าทั้ง ๒ ข้าง

แผ่เป็นปีกแคบ อับเรณูอยู่ที่ปลายทางด้านหน้าของเส้าเกสร ฝาครอบกลุ่มเรณูรูปไข่ ขอบโค้งลงกลุ่มเรณูมี ๒ ชุด ชุดละ ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มรูปคล้ายกระบอง โคนเรียวและเชื่อมติดกันเป็นปุ่มเหนียว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่ง อยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสรใต้อับเรณู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง

 ชมพูพิศมรมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามเขาหินปูนที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูพิศมร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Spathoglottis hardingiana C. S. P. Parish et Rchb. f.
ชื่อสกุล
Spathoglottis
คำระบุชนิด
hardingiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Parish, Charles Samuel Pollock
- Reichenbach, Heinrich Gustav
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Parish, Charles Samuel Pollock (1822-1897)
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง