ชมพูพันธุ์ทิพย์

Tabebuia rosea (Bertol.) Bertero ex A. DC.

ชื่ออื่น ๆ
ชมพูอินเดีย, ธรรมบูชา (ทั่วไป)
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๕ ใบ รูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี ขนาดมักไม่เท่ากัน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมชมพู สีชมพูหรือสีม่วงอ่อนอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน เมล็ดจำนวนมาก รูปขอบขนาน แบน มีปีกใส ๒ ข้าง

 ชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๘ ม. เปลือกสีเทาถึงดำ แตกตามยาว กิ่งมีเกล็ดเล็ก

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๕ ใบ ก้านใบยาว ๑๑-๑๖ ซม. มีเกล็ดเล็ก ใบย่อยรูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปรีขนาดมักไม่เท่ากัน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม.ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนถึงรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนังเมื่อแห้งสีเขียวอมเทา มีเกล็ดเล็กทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนง ใบข้างละ ๗-๑๑ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ใบประดับรูปลิ่มแคบ ออกเป็นคู่ ค่อนข้างแข็ง


ยาวประมาณ ๗ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๒-๕ มม. ปลายแหลม ก้านช่อยาว ๒-๓ ซม. ก้านดอก ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ดอกสีขาวอมชมพู สีชมพู หรือสีม่วงอ่อนอมชมพู คอหลอดดอกเมื่อเริ่มบานเป็นสีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๔-๘ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปปากเปิดยาว ๑.๕-๒.๒ มม. ด้านนอกมีเกล็ดเล็ก ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๙.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับ ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง ๓.๓-๓.๖ ซม. ยาว ๓-๓.๖ ซม. ยับย่น ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนละเอียดสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดกับโคนหลอดกลีบดอกด้านใน โคนก้านชูอับเรณูมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน อับเรณูรูปขอบขนาน หันเข้าหากัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๑ เกสร

ขนาดเล็ก จานฐานดอกรูปถ้วย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน กว้าง ๐.๗-๑.๒ ซม. ยาว ๑๕-๒๒ ซม. เมล็ดจำนวนมาก รูปขอบขนาน แบน มีปีกใส ๒ ข้าง ความยาวรวมปีก ๔-๔.๕ ซม.

 ชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นพรรณไม้ต่างประเทศมีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกทั่วไปในเขตร้อน ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน มักออกดอกช่วงผลัดใบพร้อมกันทั้งต้น

 ประโยชน์ ใช้เป็นไม้ประดับ

 ชื่อพรรณไม้ชนิดนี่ ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้นำพรรณไม้ชนิดนี่เข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นคนแรก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูพันธุ์ทิพย์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tabebuia rosea (Bertol.) Bertero ex A. DC.
ชื่อสกุล
Tabebuia
คำระบุชนิด
rosea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bertoloni, Antonio
- Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bertoloni, Antonio (1775-1869)
- Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus de (1806-1893)
ชื่ออื่น ๆ
ชมพูอินเดีย, ธรรมบูชา (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววลัยพร วิศวชัยวัฒน์