ชมพูกาหลง

Scaphochlamys klossii (Ridl.) Holttum

ไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าสั้นอยู่ชิดกัน ทอดเลื้อยอยู่ใกล้ผิวดิน มีรากค้ำยันห่าง ๆ ลำต้นเทียมเหนือดินเป็นกาบใบซ้อนกันเกือบแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบรูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกกาบที่ปลายลำต้นเหนือดิน ดอกสีขาวอมชมพูและมีแถบสีเหลืองผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปทรงรี มีเยื่อหุ้มเมล็ดจักเป็นครุย สีขาว

ชมพูกาหลงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าสั้น อยู่ชิดกัน ทอดเลื้อยอยู่ใกล้ผิวดิน มีรากค้ำยันห่าง ๆลำต้นเทียมเหนือดินเป็นกาบใบซ้อนกันเกือบแน่น ๔-๕ กาบ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบรูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว๒๐-๓๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ด้านล่างมีขน ก้านใบยาว ๑-๑๐ ซม. ขอบก้านอาจมีแผ่นคล้ายปีกและเป็นร่องยาวลงไปถึงกาบใบ อาจมีขนประปรายถึงหนาแน่น ลิ้นใบแยกเป็นแฉกกว้าง ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๖-๑ ซม. กาบใบบาง ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. มีขนแนบอยู่ตามขอบ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกกาบที่ปลายลำต้นเทียมเหนือดิน เกิดจากใบประดับ ๓-๘ ใบ เรียงเวียนซ้อนเหลื่อมกันแน่นคล้ายสลับระนาบเดียว รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาวประมาณ ๙ ซม. ปลายแหลม ก้านช่อยาว ๒-๖ ซม. ใบประดับสีเขียว รูปไข่แคบ กว้าง ๑-๑.๔ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. ปลายแหลม ขอบบางเป็นแถบใส กว้าง ๒-๔ มม. ขอบและปลายงุ้มเข้าไปด้านปลาย มีขนอยู่ตามขอบดอกออกตามซอกใบประดับ ใบประดับย่อยรูปขอบขนาน ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. ปลายเป็นติ่งหนามเส้นกลางใบ ๑-๒ เส้น เห็นชัดเจน มีขนเล็กน้อยกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด เนื้อบาง ปลายหยักซี่ฟัน กลีบเลี้ยงและรังไข่ยาวรวมกัน ๐.๘-๑.๒ ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก สีขาว รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายแหลมเกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร อับเรณูยาวประมาณ ๓ มม. ก้านชูอับเรณูแผ่กว้าง ยาวประมาณ ๒ มม. แกนอับเรณูแผ่เป็นแผ่นยาว ปลายแยกเป็นแฉกเล็กหลายแฉกและงุ้มเข้า กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสร เป็นหมันและเปลี่ยนรูป มี ๒ เกสร รูปร่างคล้ายแฉกกลีบดอก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. อีก ๓ เกสร เชื่อมติดกันเป็นแผ่นกลีบปาก รูปเกือบกลม สีขาวอมชมพูและมีแถบสีเหลืองใกล้โคนกลีบกว้างและยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ขอบหยัก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ด้านนอกมีขนสั้นหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์ ๑ ก้าน เป็นเส้นยาวที่เป็นหมัน ๒ ก้าน สั้น ยอดเกสรเพศเมียแผ่กว้างเป็นช่อง ขอบมีขน อยู่ต่ำกว่าปลายสันของแกนอับเรณู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ยาว ๑-๒ ซม. เมล็ดรูปทรงรี มี ๑-๓ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดจักเป็นครุยสีขาว

 ชมพูกาหลงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลได้ถึง ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูกาหลง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Scaphochlamys klossii (Ridl.) Holttum
ชื่อสกุล
Scaphochlamys
คำระบุชนิด
klossii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
- Holttum, Richard Eric
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas (1855-1956)
- Holttum, Richard Eric (1895-1990)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ