ชบาแคระ

Malvaviscus arboreus Cav.

ชื่ออื่น ๆ
ชบาหนู (กลาง)
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ดกทึบ เรียงเวียน รูปไข่หรือเป็นแฉกตื้น ๓ แฉก ดอกเดี่ยว สีแดง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งดอกตั้งขึ้น ผลแบบผลแห้งแยกมีเนื้อหุ้ม เมื่ออ่อนสีขาว สุกสีแดงอมส้ม รูปทรงกลม มีกลีบเลี้ยงติดทน ผลแก่จัดแห้งและแยกเป็น ๕ เสี้ยว เสี้ยวผลไม่แตก แต่ละเสี้ยวมักมี ๓-๔ เมล็ด เมล็ดรูปคล้ายไต

 ชบาแคระเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑ ม. มีขนรูปดาวทั่วไป

 ใบเดี่ยว ดกทึบ เรียงเวียน รูปไข่หรือเป็นแฉกตื้น ๓ แฉก กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมโคนเว้าตื้นเป็นรูปหัวใจ ขอบจักห่าง ๆ แผ่นใบด้านบนสาก ด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. มีขนละเอียดหูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๓-๔ มม. ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกตั้งขึ้น ก้านดอกยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. มีขน ริ้วประดับรูปใบหอกถึงรูปช้อน มี ๕-๑๐ ริ้ว โคนติดกันเล็กน้อยกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยม กลีบดอก ๕ กลีบ สีแดงรูปไข่กลับ ยาว ๒-๓ ซม. เรียงเวียนและบิดเล็กน้อยเมื่อบานกลีบดอกเผยออกเพียงเล็กน้อย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด


ยาว ๓-๕ ซม. มักยาวกว่ากลีบดอก อับเรณูติดเฉพาะบริเวณปลายหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก อยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ ปลายที่โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้แยกเป็น ๑๐ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม

 ผลแบบผลแห้งแยกมีเนื้อหุ้ม เมื่ออ่อนสีขาวสุกสีแดงอมส้ม รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทน ผลแก่จัดแห้งและแยกเป็น ๕ เสี้ยว เสี้ยวผลไม่แตก แต่ละเสี้ยวมักมี ๓-๔ เมล็ด เมล็ดรูปคล้ายไต

 ชบาแคระเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบแดดจัด ออกดอกตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชบาแคระ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Malvaviscus arboreus Cav.
ชื่อสกุล
Malvaviscus
คำระบุชนิด
arboreus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Cavanilles, Antonio José (Joseph)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1745-1804)
ชื่ออื่น ๆ
ชบาหนู (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์