ชบาหุบ

Hibiscus contortus Phuph. et S. Gardner

ชื่ออื่น ๆ
ชบาบิด (ทั่วไป)
ไม้ต้น เปลือกสีเทาอ่อน ลอกออกเป็นแผ่นไม่สม่ำเสมอ แตกกิ่งต่ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงรูปหัวใจ มีเกล็ดสีน้ำตาล ขอบเกล็ดมีขนครุย มีเส้นโคนใบ ๕ เส้น เส้นกลางใบด้านล่างมีต่อม ใบอ่อนสีแดงเรื่อ หูใบร่วงง่าย ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มักออกใกล้ปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงหลั่น ริ้วประดับและกลีบเลี้ยงรูประฆัง ดอกสีชมพูอ่อนหรือสีส้มอ่อน กลางดอกสีชมพูเข้ม มีเกล็ดสีน้ำตาล กลีบบิดเวียนไม่กางออก ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่กลับ มีขนสีทอง เมล็ดรูปไต มีขน

ชบาหุบเป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๓ ม. เปลือกสีเทาอ่อน ลอกออกเป็นแผ่นไม่สม่ำเสมอ แตกกิ่งต่ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงรูปหัวใจ กว้าง ๙-๑๓ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้น โคนตัดหรือเว้ารูปหัวใจตื้น ขอบจักฟันเลื่อยตื้น หยักซี่ฟันหรือเป็นคลื่นไม่สม่ำเสมอ เส้นโคนใบ ๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เรียวเล็ก แผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน มีเกล็ดสีน้ำตาลกระจายทั่วไปขอบเกล็ดมีขนครุย บริเวณเส้นใบใกล้โคนใบมีเกล็ดหนาแน่น ตามซอกเส้นโคนใบมีขนตรง เส้นกลางใบด้านล่างใกล้โคนใบมีต่อมรูปแถบ ยาว ๓.๕-๖ มม. ใบอ่อนสีแดงเรื่อ ๆ ก้านใบยาว ๕-๖.๕ ซม. มีเกล็ดหนาแน่นที่ปลายก้าน หูใบรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๕-๕.๕ มม. ร่วงง่าย มีเกล็ด

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มักพบออกหลาย ดอกใกล้ปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงหลั่น ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ ซม. มีรอยต่อห่างจากปลายก้าน ๕-๗ มม. เหนือรอยต่อจนถึงริ้วประดับอวบอ้วนและมีเกล็ดสีน้ำตาล ริ้วประดับรูประฆัง ยาว ๑-๑.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วนปลายแยกเป็น ๕-๖ แฉก รูปสามเหลี่ยม ด้านนอกสีเขียวอมเหลือง มีเกล็ดสีน้ำตาล กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว ๒.๕-๓ ซม. โคนเชื่อมติดกันประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วนปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๑.๒ ซม. ด้านนอกสีเขียวอมเหลือง มีเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่น ด้านในหลอดมีขนเปราะหักง่ายและเกล็ดเล็ก ด้านในแฉกกลีบเลี้ยงมีเกล็ดหนาแน่น ขอบแฉกคล้ายปีก กลีบดอกสีชมพูอ่อนหรือสีส้มอ่อน กลางดอกสีชมพูเข้ม บิดเวียนไม่กางออก มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ เบี้ยว กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ปลายมน โคนแคบ ขอบเรียบ ด้านนอกมีเกล็ด ด้านในมีต่อมเป็นจุด ๆ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๕-๗ ซม. ยื่นยาวกว่ากลีบดอก ๑.๕-๔.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูที่เป็นอิสระยาว ๕-๗ มม. ติดอยู่ ๒ ใน ๓ ของความยาวหลอด อับเรณูรูปไต ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขนสีทองหนาแน่นมี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว อยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๕-๖ มม. โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแบน

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๘-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๒.๘ ซม. เปลือกบางแข็ง ด้านนอกมีขนสีทอง ด้านในเกลี้ยง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมี ๒-๓ เมล็ด เมล็ดรูปไต กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มีขน

 ชบาหุบเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าเปิดที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมกราคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชบาหุบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus contortus Phuph. et S. Gardner
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
contortus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Phuphathanaphong, Leena
- Gardner, Simon
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Phuphathanaphong, Leena (1936-)
- Gardner, Simon (fl. 2007)
ชื่ออื่น ๆ
ชบาบิด (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์