ชบา

Hibiscus rosa-sinensis L.

ชื่ออื่น ๆ
ชบาขาว, ชุมบา (ปัตตานี); บา (ใต้); ใหม่, ใหม่แดง (เหนือ)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ หูใบรูปเส้นด้าย ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีแดง มีริ้วประดับ ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวหุ้มเกสรเพศเมีย

ชบาเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง ๔-๕.๕ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบขอบจักฟันเลื่อย แต่ที่โคนใบขอบเรียบ เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น ก้านใบยาว ๑-๘ ซม. มีขนรูปดาว หูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๖-๘ มม. ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีแดง กลางดอกสีแดงเข้ม ลูกผสมมีดอกหลายสี เช่น สีแดง สีชมพู สีขาว สีเหลือง สีส้ม ก้านดอกยาว ๓.๕-๖.๕ ซม. มีรอยต่ออยู่ใกล้ปลายก้าน มีขนรูปดาว ริ้วประดับ ๕-๘ ริ้ว รูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๖-๑ ซม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๖-๘ ซม.



ด้านนอกมีขนรูปดาว เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง ๙ ซม. ก้านชูอับเรณูส่วนที่แยกเป็นอิสระสั้น อับเรณูติดค่อนไปทางปลายหลอด มีพูเดียว รูปโค้งคล้ายเกือกม้า มี ๑ ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็กคล้ายเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ปลายก้านโผล่พ้นปลายหลอดและแยกเป็น ๕ แฉกยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม

 ชบาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วทุกภาค โดยมากปลูกเป็นรั้ว ออกดอกตลอดปี ยังไม่มีข้อมูลการติดผลในประเทศไทยในต่างประเทศพบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน

 ประโยชน์ พันธุ์แท้ใช้เป็นสมุนไพร รากใช้แก้ไอ เปลือกให้เส้นใย ใบใช้เป็นยาถ่ายอย่างอ่อนและลดอาการระคายเคืองเช่นเดียวกับดอก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชบา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus rosa-sinensis L.
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
rosa-sinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ชบาขาว, ชุมบา (ปัตตานี); บา (ใต้); ใหม่, ใหม่แดง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์