ชงโคนา

Bauhinia racemosa Lam.

ชื่ออื่น ๆ
ชงโคขี้ไก่ (กาญจนบุรี); ชงโคใบเล็ก (ราชบุรี); ชงโคเล็ก (สระบุรี); ส้มเสี้ยว (ลำปาง); เสี้ยว (เหนือ);
ไม้ต้น กิ่งโน้มลง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไต ปลายแยกเป็น ๒ แฉก หยักลึกหนึ่งในห้าถึงหนึ่งในสี่ของความยาวแผ่นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามกับใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อโปร่ง โน้มลง ดอกสีขาวแกมเหลือง ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปทรงคล้ายเคียว เมล็ดแบน ทรงรูปไข่

ชงโคนาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งโน้มลง กิ่งอ่อนมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ กิ่งแก่เกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไต กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก หยักลึกหนึ่งในห้าถึงหนึ่งในสี่ของความยาวแผ่นใบ ส่วนเว้ากว้าง ปลายแฉกมนกลม โคนตัดถึงเว้าลึกรูปหัวใจ ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีเทาหรือค่อนข้างเกลี้ยง เส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. มีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามกับใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อโปร่ง โน้มลง ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านและแกนกลางช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม มี ๑๐-๒๕ ดอก ใบประดับขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๑ มม. ใบประดับย่อยเล็กมาก ติดอยู่ใกล้กับโคนก้านดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกตูมรูปกระสวยหรือรูปคล้ายเคียว โค้งเล็กน้อย ยาว ๕-๗ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นนุ่ม ฐานดอกรูปลูกข่าง ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ดอกบานวงกลีบเลี้ยงแยกด้านเดียวคล้ายกาบ กลีบดอกสีขาวแกมเหลืองมี ๕ กลีบ รูปแถบแกมรูปใบหอก ยาวกว่าวงกลีบเลี้ยงเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอก ๕ เกสร ยาวประมาณ ๗ มม. ชั้นในสั้นกว่า ก้านชูอับเรณูมีขนหนาแน่นที่โคน อับเรณูรูปขอบขนานแคบ ยาว ๓-๔ มม. มีขน ก้านรังไข่ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน เกลี้ยงมี ๑ ช่อง ออวุลหลายเม็ด ยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัดเจน

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปทรงคล้ายเคียว กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๘-๒๕ ซม. เต่ง ผิวเกลี้ยง เมล็ดแบน ทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มี ๑๐-๒๐ เมล็ด

 ชงโคนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเต็งรังที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ยูนนาน เวียดนาม กัมพูชา

 ประโยชน์ ในอินเดียพบว่าเปลือกมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านจุลินทรีย์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชงโคนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia racemosa Lam.
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
racemosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1744-1829)
ชื่ออื่น ๆ
ชงโคขี้ไก่ (กาญจนบุรี); ชงโคใบเล็ก (ราชบุรี); ชงโคเล็ก (สระบุรี); ส้มเสี้ยว (ลำปาง); เสี้ยว (เหนือ);
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี