ชงโคดำ

Bauhinia pottsii G. Don var. pottsii

ชื่ออื่น ๆ
ชิงโค (ระนอง, สุราษฎร์ธานี)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นที่ทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป กิ่งกลม มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปไข่หรือรูปเกือบกลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีแดง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว คล้ายรูปแถบ เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม

ชงโคดำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นที่ทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูงได้ถึง ๑๕ ม. ไม่มีมือจับ กิ่งกลม มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปเกือบกลม กว้าง ๗.๓-๑๔ ซม. ยาว ๕-๑๒.๕ ซม. ปลายเว้าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบ เห็นเป็น ๒ แฉก ปลายแฉกมน โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนมีขนสีน้ำตาลประปรายหรือเกือบเกลี้ยงด้านล่างมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นโคนใบ ๑๑-๑๕ เส้น ก้านใบยาว ๓-๔.๒ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๒.๘-๕.๕ ซม. ดอกสีแดง ก้านดอกยาว ๐.๖-๑.๗ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประดับรูปใบหอกหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๘-๒ มม. ยาว ๒-๓.๕ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในค่อนข้างเกลี้ยง ดอกตูมรูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๓ ซม. ปลายแหลม มีขนสีน้ำตาลแดง ฐานดอกเป็นหลอด ยาว ๓.๓-๔.๘ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๓-๕ กลีบ รูปแถบหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๙ มม. ยาว ๒.๘-๓.๗ ซม. ปลายแหลม ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนหนาแน่น บางกลีบโคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก ๔-๕ กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ ขนาดไม่เท่ากันรูปใบหอก กว้าง ๐.๔-๑.๕ ซม. ยาว ๓.๓-๕.๘ ซม. ปลายแหลม โคนกลีบคอดเล็กลงเป็นก้านกลีบ แผ่นกลีบสีแดง มีสีเหลืองตรงกลาง มีขนสีน้ำตาลแดงประปราย เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒.๔-๔.๗ ซม. เกลี้ยง อับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดแบบไหวได้ ก้านรังไข่ยาว ๑.๗-๒.๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๖ เม็ดเกสรเพศเมียยาว ๕-๖.๗ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแบบก้นปิด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว คล้ายรูปแถบโคนกว้าง ปลายแหลม มีจะงอย แถบด้านหนึ่งของผลมีรอยเชื่อมหนา เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๔ ซม. มี ๔-๖ เมล็ด

 ชงโคดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามแนวชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมามาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชงโคดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia pottsii G. Don var. pottsii
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
pottsii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, George
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. pottsii
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
ชิงโค (ระนอง, สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวรัศมี สิมมา