ชงโคขาว

Bauhinia pottsii G. Don var. subsessilis (Craib) de Wit

ชื่ออื่น ๆ
ชงโคป่า (จันทบุรี); ชังโค (ตราด); ชิงโค, ส้มเสี้ยว (สุราษฎร์ธานี); ชุมโค (ชุมพร)
ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปเกือบกลมปลายแยกเป็น ๒ แฉก เว้าลึกลงมาประมาณหนึ่งในสามของความยาวแผ่นใบ หูใบรูปขอบขนานช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกตูมรูปรีแกมรูปขอบขนาน สีขาว รังไข่มีขนแข็งเอนผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ แบน ปลายกว้างและเรียวแหลมเป็นจะงอย รอยเชื่อมด้านหลังไม่นูน เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม

 ชงโคขาวเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปเกือบกลม กว้าง ๔-๑๕ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เว้าลึกลงมาประมาณหนึ่งในสามของความยาวแผ่นใบ ส่วนเว้ากว้าง ปลายแฉกกลม โคนรูปหัวใจหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เส้นโคนใบ ๑๑-๑๕ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง หูใบรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ก้านดอกยาว ๐.๓-๐.๕ มม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. ดอกตูมรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๒-๓ ซม. ปลายแหลม มีสันตามยาว ๕ สัน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ฐานดอกเป็นหลอดยาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๒-๓ ซม. กลีบโค้งพับลง ปลายแหลม บางกลีบเชื่อมติดกัน ด้านในสีม่วงแกมสีน้ำตาล กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๔-๑.๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ขอบกลีบย่น โคนกลีบสอบเรียวคล้ายก้าน กลีบในสุดมีขนาดใหญ่และมีแต้มสีเหลืองตรงกลาง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสีแดง ยาว ๓-๔.๕ ซม. เกลี้ยง อับเรณูรูปแถบ ยาว ๑-๑.๒ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๒ เกสร มีขนาดเล็ก รูปลิ่มแคบก้านรังไข่ยาว ๑-๒ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนแข็งเอนสีเทาหรือสีเทาแกมแดง มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสีแดง ยาว ๒-๓ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นสีแดงเข้ม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ ปลายกว้างและเรียวแหลมเป็นจะงอย ผิวเกือบเกลี้ยง รอยเชื่อมด้านหลังไม่นูน เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. มี ๔-๖ เมล็ด

 ชงโคขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชงโคขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia pottsii G. Don var. subsessilis (Craib) de Wit
ชื่อสกุล
var. subsessilis
คำระบุชนิด
(Craib) de Wit
ชื่ออื่น ๆ
ชงโคป่า (จันทบุรี); ชังโค (ตราด); ชิงโค, ส้มเสี้ยว (สุราษฎร์ธานี); ชุมโค (ชุมพร)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี