ฉนวน

Dalbergia nigrescens Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กระพี้ (ลำปาง); กระพี้โพรง (ราชบุรี); สนวน (กลาง); ไฮปันชั้น (ลำปาง)
ไม้ต้น มีพูพอน เปลือกเรียบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๙-๑๕ ใบ บางครั้งพบได้ถึง ๑๗ ใบ เรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ใบแห้งสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและเหนือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีขนสั้นนุ่มดอกสีขาว รูปดอกถั่ว ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนานหรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน แบน เมล็ดรูปไต มี ๑-๓ เมล็ด

ฉนวนเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐ ม. บางครั้งพบสูงได้ถึง ๓๐ ม. ลำต้นตรง มีพูพอน เปลือกนอกเรียบ สีเทาแกมขาว เปลือกในสีนวลถึงสีน้ำตาลเรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีขนประปรายและเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแห้ง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ใบย่อย ๙-๑๕ ใบ บางครั้ง พบได้ถึง ๑๗ ใบ เรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๕.๕ ซม. ปลายมนกลมถึงหยักเว้าตื้น ๆ โคนมนถึงกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกือบเกลี้ยงถึงมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ปลายแต่ละเส้นโค้งไปจดกับเส้นถัดไป เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนประปราย เมื่อแก่เกือบเกลี้ยงถึงเกลี้ยง แกนกลางใบยาว ๘-๑๕.๕ ซม. มีขนประปรายเมื่อแก่เกลี้ยงถึงเกือบเกลี้ยง ก้านใบย่อยยาว ๒-๔ มม.



มีขนประปราย หูใบรูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ร่วงง่ายด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในมีขนประปราย ไม่มีหูใบย่อย ใบแห้งสีน้ำตาลเข้มถึงดำ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและเหนือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาว ๓-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๒-๑.๗ ซม. แกนกลางช่อดอกยาว ๓.๕-๘ ซม. ทุกส่วนของช่อดอกมีขนสั้นนุ่มใบประดับบริเวณโคนก้านช่อดอกรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ใบประดับย่อยที่โคนกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กหรือรูปแถบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. มีขนทั่วไป ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นทั่วไป ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกลึก ๑-๒ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว แยกจากกันเป็นอิสระ กลีบกลางรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔.๕-๕ มม. ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. ปลายหยักเว้าตื้น ๆ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบคู่ข้างรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔.๕-๕ มม. ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบคู่ล่างรูปคล้ายเรือ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม.


บริเวณโคนกลีบมีติ่งยาวประมาณ ๐.๕ มม. ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมเกสรเพศเมีย ยาว ๔.๕-๖ มม. เกลี้ยง อับเรณูติดที่ฐาน กว้างและยาวประมาณ ๐.๓ มม. เกลี้ยงจานฐานดอกเห็นไม่ชัด ก้านรังไข่ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๓ เม็ด มีขนบริเวณโคนและรอยเชื่อมของผนังรังไข่ ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนานหรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๙ ซม. แบน เกลี้ยง เมื่อแก่มีสีดำ เมล็ดรูปไต กว้าง ๕-๖.๕ มม. ยาว ๖.๕-๙.๕ มม. ผิวเรียบ มี ๑-๓ เมล็ด

 ฉนวนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๖๖๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำก้านและกลักไม้ขีดไฟลังใส่ของ ทำเยื่อกระดาษ และไม้แบบหล่อคอนกรีตเดิมทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้เป็นต้นไม้สำหรับเลี้ยงครั่ง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ฉนวน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia nigrescens Kurz
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
nigrescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระพี้ (ลำปาง); กระพี้โพรง (ราชบุรี); สนวน (กลาง); ไฮปันชั้น (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา