จ๊าหอม

Ruellia repens L.

ชื่ออื่น ๆ
ต้อยติ่งเลื้อย (กลาง)
ไม้ล้มลุกหลายปีขนาดเล็ก ต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรีกว้างถึงรูปรียาว ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีม่วงอ่อนถึงสีขาว กลีบดอกรูปปากเปิดผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระบอง เมล็ดแบนมี ๘ เมล็ด รูปค่อนข้างกลม

จ๊าหอมเป็นไม้ล้มลุกหลายปีขนาดเล็ก ต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย สูง ๑๕-๓๐ ซม. ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนเล็กน้อย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรีกว้างถึงรูปรียาว กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มถึงมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีขนประปรายทั่วแผ่นใบและตามเส้นใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม.

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน ใบประดับขนาดเล็ก ๒ ใบ รูปคล้ายใบ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. มีก้านยาวประมาณ ๒ มม. ดอกสีม่วงอ่อนถึงสีขาว กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปใบหอก ยาว ๗-๘ มม. กลีบดอกรูปปากเปิดโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแตร ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ซีกบนมี ๒ แฉก ซีกล่างมี ๓ แฉก แต่ละแฉกมีขนาดเกือบเท่ากัน ปลายมนกลมเรียบ เกลี้ยง แฉกบิดเวียนซ้ายในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร อยู่เป็นคู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดที่หลอดกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี มีขนสีขาวหนาแน่น มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระบอง ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. โคนสอบแคบ มีขนสั้นประปราย เมล็ดแบน มี ๘ เมล็ด รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๓ มม. เรียบ ขอบมีขนสีขาวหนาแน่น ช่วยดูดคายความชื้นก้านเมล็ดแข็ง โค้งคล้ายตะขอ

 จ๊าหอมเป็นวัชพืช มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นทั่วไปในที่ว่างหรือที่รกร้าง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จ๊าหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ruellia repens L.
ชื่อสกุล
Ruellia
คำระบุชนิด
repens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ต้อยติ่งเลื้อย (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.พนารัตน์ ทองเพิ่ม