จูดหนู

Eleocharis ochrostachys Steud.

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีไหลยาว ลำต้นเหนือดินขึ้นรวมกันเป็นกระจุก แต่ละต้นรูปทรงกระบอกจนถึงค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบลดรูปเป็นกาบใบ สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแกมแดงเรียงเวียน ลักษณะเป็นปลอกหุ้มโคนต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกย่อยช่อเดียว ออกตามปลายลำต้น ช่อดอกย่อยประกอบด้วยกาบจำนวนมาก สีเขียวอ่อน รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ แต่ละกาบมีดอก ๑ ดอก กลีบรวมลดรูปเป็นเส้น ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแกมเหลือง ทรงรูปไข่กลับ ตรงกลางนูนเป็นสามเหลี่ยม เมล็ดรูปคล้ายผล

 จูดหนูเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีไหลยาว กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ลำต้นเหนือดินขึ้นรวมกันเป็นกระจุก แต่ละต้นรูปทรงกระบอกจนถึงค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผิวเรียบ สีเขียว กว้าง ๒-๓ มม. สูง ๔๐-๘๐ ซม.

 ใบลดรูปเป็นกาบใบ สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแกมแดง เรียงเวียน ลักษณะเป็นปลอกหุ้มโคนต้น บางเป็นเยื่อ ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ปลายมน มีติ่งหนามสั้น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกย่อยช่อเดียวออกตามปลายลำต้น ช่อดอกย่อยรูปทรงกระบอกถึงทรงคล้ายรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ช่อดอกย่อยประกอบด้วยกาบจำนวนมาก สีเขียวอ่อนเรียงเวียนซ้อนเหลื่อมรอบแกนกลาง บางเป็นเยื่อ รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๒.๒ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมน แต่ละกาบมีดอก ๑ ดอก กลีบรวม ๖-๗ กลีบ ลดรูปเป็นเส้น ปลายเป็นหนามละเอียดสีน้ำตาลอ่อน เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมากอับเรณูยาว ๐.๗-๐.๘ มม. สีเหลือง แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย ติดทน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแกมเหลือง ทรงรูปไข่กลับ ตรงกลางนูนเป็นสามเหลี่ยมกว้าง ๑.๓-๑.๖ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ผิวเป็นมัน กลีบรวมติดทน ยาวกว่าผล เมล็ดรูปคล้ายผล

 จูดหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามบริเวณที่โล่งมีแสงแดดจัด ที่ชื้นแฉะ และหนองน้ำตื้น ๆ ที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวันและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จูดหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eleocharis ochrostachys Steud.
ชื่อสกุล
Eleocharis
คำระบุชนิด
ochrostachys
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Steudel, Ernst Gottlieb von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1783-1856)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววีรญา บุญเตี้ย