จุ๊ยเซียน

Narcissus tazetta L.

ไม้ล้มลุกหลายปี มีหัวทรงรูปไข่ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ออกที่โคนต้น รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกจากโคนต้น ดอกสีขาว สีขาวแกมเหลือง สีเหลือง หรือสีขาวแกมส้ม มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงรีแกมรูปไข่กลับ เมล็ดจำนวนมาก สีดำ รูปเกือบกลม

จุ๊ยเซียนเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๓๐-๘๐ ซม. มีหัวทรงรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. หัวมีเปลือกบางเป็นเยื่อหุ้ม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกที่โคนต้น รูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๒๐-๔๕ ซม. ปลายมน โคนเป็นกาบซ้อนกัน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านล่างเป็นสัน มีนวลเล็กน้อย

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกจากโคนต้น ก้านช่อดอกแบน แข็ง ยาว ๓๐-๔๕ ซม. มีดอก ๓-๘ ดอก หรืออาจพบบ้างที่มีได้ถึง ๒๐ ดอก ใบประดับบางเป็นเยื่อโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กน้อย ปลายแผ่ออกลักษณะคล้ายกาบ ยาว ๔-๗ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมก้านดอกยาวไม่เท่ากัน ยาว ๒-๖ ซม. วงกลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบรูปทรงกระบอกถึงกึ่งรูปสามเหลี่ยม สีเขียวอ่อน ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีนวลปลายแยกเป็น ๖ แฉก สีขาวหรือสีเหลือง แผ่กางออกเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ ซม. แฉกรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปรีกว้างถึงรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๓-๒ ซม. ปลายแหลม มีกะบังรอบเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ สูง ๔-๕ มม. สีขาว สีเหลือง หรือสีส้มเกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาวประมาณ ๔ มม. ติดอยู่ภายในหลอดกลีบรวม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก เป็น ๓ พู

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงรีแกมรูปไข่กลับ เมล็ดจำนวนมาก สีดำ รูปเกือบกลม

 จุ๊ยเซียนเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของยุโรป มีรูปร่างหลายแบบ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม

 ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย หัวมีพิษ หากกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการชัก ท้องเดิน และม่านตาขยายกว้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุ๊ยเซียน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Narcissus tazetta L.
ชื่อสกุล
Narcissus
คำระบุชนิด
tazetta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์