จุหลัน

Cymbidium sinense (Jacks.) Willd.

กล้วยไม้ดินอายุหลายปี ต้นเป็นหัวเทียม รูปไข่ มีกาบใบหุ้ม ใบเดี่ยว เรียงสลับซ้อนเหลื่อม แต่ละต้นมีใบไม่เกิน ๕ ใบ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกเป็นช่อก้านโดดจากซอกกาบใบที่หุ้มหัวเทียมช่อตั้งตรง ดอกมีกลิ่นหอม โดยทั่วไปสีม่วงปนสีน้ำตาล กลีบปากสีนวลหรือสีเหลืองอ่อน มีจุดประสีแดงเข้มช่วงปลาย ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระสวย มีสันตามยาว เมล็ดขนาดเล็กมากคล้ายผงมีจำนวนมาก

จุหลันเป็นกล้วยไม้ดินอายุหลายปี มักขึ้นเป็นกระจุกค่อนข้างแน่น แต่ละต้นเป็นหัวเทียม รูปไข่ สูงประมาณ ๓ ซม. กว้างประมาณ ๒ ซม. มีกาบใบหุ้มยาวได้ถึง ๑๓ ซม. กาบเป็นเยื่อรูปไข่ ปลายเรียวแหลมมักฉีกขาดเป็นแถบเล็กหรือเป็นเส้น ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับซ้อนเหลื่อม แต่ละต้นมีใบไม่เกิน ๕ ใบ รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๐.๒๕-๑ ม. ปลายแหลม โคนแผ่เป็นกาบและมีแนวรอยต่อกับแผ่นใบสูงจากหัวเทียม ๔-๖ ซม. แผ่นใบค่อนข้างบางและเหนียวคล้ายหนัง กางโค้งออกและบิดเล็กน้อย สีเขียวเข้มค่อนข้างมัน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อก้านโดดจากซอกกาบใบที่หุ้มหัวเทียม ช่อตั้งตรง ก้านช่อยาว ๔๐-๘๐ ซม. โคนก้านช่อมีกาบใบประดับรูปใบหอก ๓-๕ กาบ หรือมากกว่า เรียงซ้อนเหลื่อมกัน แต่ละกาบยาวได้ถึง ๑๐ ซม. เหนือขึ้นไปมีใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๐.๔-๔ ซม. ปลายแหลม เรียงสลับเป็นระยะห่าง แกนช่อดอกยาวครึ่งหนึ่งถึง ๑ ใน ๓ ของความยาวก้านช่อ ดอกเรียงเวียนเป็นระยะรอบแกน มี ๖-๒๖ ดอก ก้านดอกรวมทั้งรังไข่สีเขียว มักแกมสีม่วงปนสีน้ำตาลยาว ๒-๔ ซม. แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม. มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงทั้ง ๓ กลีบ คล้ายกันโดยทั่วไปสีม่วงปนสีน้ำตาลและมีสีคล้ำมาก รูปรีกว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายแหลม ขอบม้วน


ลงเล็กน้อย กลีบบนมักจะอยู่ในแนวตั้ง ส่วนกลีบด้านข้างกางออก กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างสีคล้ายกลีบเลี้ยง รูปไข่ กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๒-๒.๗ ซม. มักอยู่ในแนวตั้ง ปลายแหลม กลีบดอกที่เป็นกลีบปากสีนวลหรือสีเหลืองอ่อน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๗-๒.๕ ซม. หูกลีบปากอยู่ในแนวตั้ง รูป มนค่อนข้างกลม ด้านบนเป็นปุ่มเล็ก ๆ หรือหูกลีบปากมีขนาดเล็กหรือลดรูป ช่วงโคนกลีบปากด้านบนมีสัน ๒ สัน เอนเข้าหากันตามแนวยาว ปลายสันสิ้นสุดบริเวณประมาณกึ่งกลางกลีบ กลีบปากช่วงปลายทางด้านบนมีจุดประสีแดงเข้ม ผิวเป็นปุ่มเล็ก ๆ หรือมีขนละเอียดเส้าเกสรโค้ง สูงประมาณ ๑.๕ ซม. ขอบด้านหน้าทั้ง ๒ ข้างเป็นสันหรือเป็นปีกแคบ ฝาครอบกลุ่มเรณูรูปคล้ายหมวก กลุ่มเรณูมี ๒ คู่ แต่ละคู่ประกอบด้วยกลุ่มเรณูรูปค่อนข้างกลมและแบน ขนาดไม่เท่ากัน กลุ่มเรณูทั้ง ๒ คู่ ติดอยู่บนแผ่นเยื่อบางใส รูปคล้ายหมวกปีกแคบรังไข่อยู่ใต้วงกลีบและต่อเนื่องไปกับก้านดอก มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่ง อยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสรใต้อับเรณู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระสวย ยาวประมาณ ๖ ซม. มีสันตามยาว ผลติดอยู่ที่แกนช่อในแนวตั้ง เมล็ดขนาดเล็กมากคล้ายผง มีจำนวนมาก

 จุหลันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมาจีนตอนใต้ เวียดนาม และญี่ปุ่น

 จุหลันเป็นกล้วยไม้ที่นิยมปลูกกันมานานในจีนและญี่ปุ่น มีการปลูกเพื่อการค้าในไต้หวัน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุหลัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cymbidium sinense (Jacks.) Willd.
ชื่อสกุล
Cymbidium
คำระบุชนิด
sinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jackson, George
- Willdenow, Carl Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jackson, George (c. 1780-1811)
- Willdenow, Carl Ludwig von (1765-1812)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง