จุกพราหมณ์

Acriopsis indica Wight

ชื่ออื่น ๆ
นมหนูหัวกลม (ทั่วไป)
กล้วยไม้อิงอาศัย ต้นเป็นหัวเทียม รูปค่อนข้างกลม มีกาบใบหุ้ม รากเรียวยาว สีขาว แยกแขนงมาก ออกเป็นกระจุกที่โคน ใบเดี่ยว เรียงสลับ แต่ละต้นมักมีใบ ๒ ใบ รูปแถบแกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกจากโคนหัวเทียม ดอกสีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อนอมเขียว อาจมีจุดประสีม่วงแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เมล็ดจำนวนมาก มีขนาดเล็กมากคล้ายผง

จุกพราหมณ์เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย มักขึ้นเป็นกระจุกค่อนข้างแน่น รากเรียวยาว สีขาว แยกแขนงมากออกเป็นกระจุกที่โคน แต่ละต้นเป็นหัวเทียม รูปค่อนข้างกลม สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. มีกาบใบ ๑-๒ กาบ หุ้มซ้อนสลับกาบเป็นเยื่อบาง รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ปลายกาบสั้นกว่าหัวเล็กน้อย มักฉีกขาดเป็นเส้น ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ แต่ละต้นมักมีใบ ๒ ใบ รูปแถบแกมรูปรี กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๘-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบพับเข้าหากันเล็กน้อยและติดอยู่ที่ส่วน


ปลายของหัวเทียม แผ่นใบบางและอ่อน เส้นใบเห็นไม่ชัด มักร่วงก่อนออกดอก

 ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกจากโคนหัวเทียม ช่อตั้งและโปร่ง ทั้งช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านช่อยาว ๕-๑๒ ซม. แกนช่อมักจะไม่ตรง แขนงช่อออกหลายทิศทาง ทั้งก้าน แกนกลาง และแกนย่อยเรียว แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ดอกเรียงเวียนรอบแกนห่าง ๆ ก้านดอกและรังไข่รวมกันยาวประมาณ ๕ มม. ใบประดับรูปใบหอกแคบ ยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ สีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อนอมเขียว อาจมีจุดประสีม่วงแดง กลีบบนรูปคล้ายเรือกว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบด้านข้างทั้ง ๒ กลีบ เชื่อมติดกันตลอดความยาว รูปคล้ายกลีบบนแต่กว้างกว่าเล็กน้อย ติดอยู่ใต้กลีบปาก กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างสีคล้ายกลีบเลี้ยง รูปรี กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมนกลม แผ่นกลีบแผ่แบนและกางออก กลีบดอกที่เป็นกลีบปากสีขาว มักมีจุดแต้มสีม่วงอมชมพู รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔-๕ มม. ช่วงโคนด้านข้างแผ่โค้งออกเล็กน้อยคล้ายหูกลีบปาก ช่วงปลายด้านบนบริเวณแนวกลางมีสันเตี้ยและสั้น ๒ สัน ขอบแผ่นกลีบบางค่อนข้างใส และเป็นคลื่น โคนติดสูงขึ้นไปประมาณกึ่งกลางของเส้าเกสร เส้าเกสรสูงประมาณ ๔ มม. ช่วงปลายเป็นแผ่นมนค่อนข้างกลมยื่นออกไปทางด้านหน้าคล้ายฝากั้นอับเรณูทั้ง ๒ ข้าง ด้านข้างระหว่างปลายเส้าเกสรกับกลีบปากมีติ่งรูปคล้ายกระบองยื่นตรงไปทางด้านหน้า ปลายโค้งลงเล็กน้อยฝาครอบกลุ่มเรณูรูปคล้ายหมวก กลุ่มเรณูรูปคล้ายกระบอง มี ๒ คู่ ติดที่ปลายก้านกลุ่มเรณู ซึ่งมีรูปคล้ายช้อนรองเท้า มีลักษณะบางใส แป้นเหนียวเป็นแผ่นรูปค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมพับงอตั้งฉากกับก้าน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบและต่อเนื่องไปกับก้านดอก มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสรใต้อับเรณู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ติดห้อยลงจากแกนช่อ เมล็ดจำนวนมาก มีขนาดเล็กมากคล้ายผง

 จุกพราหมณ์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าผลัดใบ และป่าโปร่งทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๑๕๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดียเมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุกพราหมณ์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acriopsis indica Wight
ชื่อสกุล
Acriopsis
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1872)
ชื่ออื่น ๆ
นมหนูหัวกลม (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง