จิ้งเขา

Ficus rosulata C. C. Berg

ชื่ออื่น ๆ
ชิ้งเขา (นครศรีธรรมราช); เดื่อฉิ่ง (ยะลา); ฮากอกายู (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้น เปลือกเรียบ สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา ผิวล่อนง่าย ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวหรืออาจเรียงเกือบตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเรียงตามกิ่งสั้นหรือกิ่งแยกแขนง และออกรวมเป็นกลุ่มตามลำต้น ช่อดอกเป็นกระเปาะ ปลายมีช่องเปิด ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม รูปทรงรี หรือทรงรูปไข่กลับ ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน มีขนาดเล็กจำนวนมาก

จิ้งเขาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. เปลือกเรียบสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง กิ่งอ่อนมีขนสั้นแข็งสีน้ำตาล ตามกิ่งมักมีต่อมเล็ก ๆ ผิวมันอยู่ ๒ ข้าง ใกล้โคนก้านใบ กิ่งอ่อนภายในมักกลวง ทุกส่วนมียางสีขาวขุ่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวหรืออาจเรียงเกือบตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๖ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๙.๕ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๗ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบและหยักซี่ฟันตื้น ๆ บริเวณใกล้ปลายใบ แผ่นใบหนาหรือค่อนข้างบาง บางครั้งเบี้ยว ด้านบนสีเขียวเข้ม ค่อนข้างเรียบด้านล่างสีจางกว่าและมีผลึกหินปูน อาจพบต่อมเล็กผิวมันอยู่ที่ซอกเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบบางซอก เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ตามเส้นใบทั้ง ๒ ด้าน มีขนสั้นแข็งสีน้ำตาลประปราย ก้านใบยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. มีขนสั้นแข็งสีน้ำตาล ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย มีขนสั้นแข็งสีน้ำตาลหรือเกลี้ยง

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเรียงตามกิ่งสั้นหรือกิ่งแยกแขนง ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. และออกรวมเป็นกลุ่มตามลำต้น ช่อดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงเกือบกลม กลมแป้นหรือคล้ายรูปชมพู่ กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ตามยาวอาจมีสันเล็ก เกลี้ยง ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบาง ขนาดเล็ก ปลายกระเปาะมีช่องเปิด กว้าง ๓-๘ มม. ก้านช่อยาว ๑-๓ ซม. ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบาง ขนาดเล็ก ใบประดับขนาดเล็ก ๓ ใบ รูปลิ่ม ยาว ๑-๒ มม. ติดเป็นวงรอบก้านช่อดอก ดอกขนาดเล็กอยู่ภายในโพรงฐานช่อดอกดอกมีจำนวนมากและค่อนข้างหนาแน่น แต่ละดอกมีกลีบรวมสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้างของรังไข่ เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปปากแตรเล็ก

 ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม รูปทรงรี หรือทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. สุกสีเหลืองหรือสีน้ำตาล เกลี้ยงหรือมีขน ก้านผลรวมยาว ๑-๔ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน มีขนาดเล็ก จำนวนมาก

 จิ้งเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิ้งเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus rosulata C. C. Berg
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
rosulata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Berg, Cornelis Christiaan
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1934-2012)
ชื่ออื่น ๆ
ชิ้งเขา (นครศรีธรรมราช); เดื่อฉิ่ง (ยะลา); ฮากอกายู (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์