จิงจ้อขาว

Merremia umbellata (L.) Hallier f. subsp. orientalis (Hallier f.) Ooststr.

ชื่ออื่น ๆ
เถาดอกบานตูม (ตราด); เอน (สุราษฎร์ธานี)
ไม้เลื้อยล้มลุก ส่วนโคนที่แก่แข็งคล้ายไม้ลำต้นรูปทรงกระบอก ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่มออกตามซอกใบ ดอกสีนวล สีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม เบียดชิดกันค่อนข้างแน่น ปลายแถบกลางกลีบมีขน ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่แกมรูปกรวย สีน้ำตาล มี ๔ เมล็ด สีน้ำตาล มีขนยาวนุ่มหนาแน่นตั้งฉากกับผิว

จิงจ้อขาวเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ส่วนโคนที่แก่แข็งคล้ายไม้ ลำต้นรูปทรงกระบอก มีริ้วตามยาว พันเลื้อยหรือทอดนอนไปตามพื้นดินและมักมีรากเกือบทุกข้อเกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๔.๕ ซม. ยาว ๓-๑๐.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม และมีติ่งหนามสั้น โคนเว้ารูปหัวใจ ตัด กลม หรือรูปติ่งหู ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่นหรือประปรายเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ก้านใบรูปทรงกระบอกยาว ๑-๔ ซม. มีขนสั้นสีขาวหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ดอกเบียดชิดกันค่อนข้างแน่น หรือมี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ใบประดับขนาดเล็ก รูปไข่หรือรูปใบหอก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีขน ดอกสีนวล สีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้มกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ งุ้มเว้าเป็นแอ่ง รูปกลม รูปรีกว้าง หรือรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งหนามสั้น ขอบบางและแห้ง กลีบนอก ๓ กลีบ มีขนประปราย กลีบใน ๒ กลีบ เกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๒.๕-๓.๘ ซม. ปลายผายกว้างออก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. ปลายสุดหยักเว้าเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก มีแถบกลางกลีบชัดเจน มีเส้น ๓ เส้น เกลี้ยง ยกเว้นปลายแถบกลางกลีบมีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวไม่เท่ากัน ไม่โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกับโคนหลอด โคนกว้างกว่าปลาย มีขนประปราย อับเรณูบิดเมื่อแตก จานฐานดอกเป็นวงขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวย เกลี้ยงมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่แกมรูปกรวยกว้างและยาวประมาณ ๘ มม. สีน้ำตาล เกลี้ยง เรียบไม่มีรอยย่น มี ๔ เมล็ด ยาวประมาณ ๕ มม. สีน้ำตาลมีขนยาวนุ่มหนาแน่นตั้งฉากกับผิว

 จิงจ้อขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ทุ่งหญ้า พื้นที่รกร้าง ริมทาง และริมฝั่งคลอง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิงจ้อขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Merremia umbellata (L.) Hallier f. subsp. orientalis (Hallier f.) Ooststr.
ชื่อสกุล
Merremia
คำระบุชนิด
umbellata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Hallier, Hans(Johannes) Gottfried
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. orientalis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Hallier f.) Ooststr.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Hallier, Hans(Johannes) Gottfried (1868-1932)
ชื่ออื่น ๆ
เถาดอกบานตูม (ตราด); เอน (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ชุมพล คุณวาสี