จำปีป่า

Magnolia floribunda (Finet et Gagnep.) Figlar

ชื่ออื่น ๆ
แก้วมหาวัน (เชียงใหม่); จำปีน้อย (เชียงใหม่); อินทวา (เลย)
ไม้ต้น เปลือกหนา แตกเป็นร่องตื้นตามยาวมีกลิ่นฉุน มีช่องอากาศเป็นขีดยาว ยอดอ่อนมีขนนุ่มสีทอง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปรี หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบ ร่วงง่ายมีรอยแผลของหูใบที่ก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง ดอกตูมรูปไข่แกมรูปทรงกระบอกมีกาบซึ่งมีขนสีทองยาวนุ่มหนาแน่น กลีบรวมสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี เปลือกผลมีช่องอากาศนูนเด่น สีขาว เมล็ดรูปทรงกลมรี มี ๑-๖ เมล็ด

จำปีป่าเป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐-๘๐ ซม. เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องตื้นตามยาว มีช่องอากาศเป็นขีดยาว มีกลิ่นฉุน แตกกิ่งจำนวนมากในระดับสูง ทรงพุ่มกลม โปร่ง หรือแผ่กว้างยอดอ่อนมีขนนุ่มสีทอง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปรี กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมและมีติ่งแหลม ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. โคนรูปลิ่มถึงมน แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนสีทองหนาแน่นตามเส้นกลางใบด้านล่าง ใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ปลายเส้นเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๙-๒.๕ ซม. มีขนนุ่ม หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบ ร่วงง่าย มีรอยแผลของหูใบที่ก้านใบ ยาว ๐.๒-๑.๔ ซม.

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๒-๓ กาบ มีขนสีทองยาวนุ่มหนาแน่น ดอกตูมรูปไข่แกมรูปทรงกระบอก ก้านดอกยาว ๓-๗ มม. มี ๑-๒ ข้อ กลีบรวม ๑๐-๑๓ กลีบ สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง ลักษณะคล้ายกัน กลีบชั้นนอกบาง มี ๓-๔ กลีบรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับจนถึงรูปช้อนเรียวแคบ กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. ขนาดใหญ่กว่ากลีบชั้นใน


เล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๖-๙ มม. อับเรณูยาว ๑-๓ มม. เรียงเวียนล้อมรอบโคนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีมากกว่า ๓๐ รังไข่ แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกเป็นรูปทรงกระบอก สีเหลืองอมเขียว ยาว ๐.๙-๑.๔ ซม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นสันโค้ง

 ผลแบบผลกลุ่ม เป็นช่อยาว ๔-๑๑ ซม. ก้านช่อผลยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๕-๓๐ ผล ไม่มีก้านผลย่อย ผลย่อยรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี กว้าง ๐.๘-๑.๔ ซม. ยาว ๐.๘-๒ ซม. เปลือกบาง สีน้ำตาลอมดำ มีช่องอากาศนูนเด่น สีขาว เมล็ดรูปทรงกลมรี กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๘ มม. มี ๑-๖ เมล็ด

 จำปีป่าเป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๒๐๐-๑,๗๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมผลแก่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จำปีป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Magnolia floribunda (Finet et Gagnep.) Figlar
ชื่อสกุล
Magnolia
คำระบุชนิด
floribunda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Finet, Achille Eugène
- Gagnepain, François
- Figlar, Richard B.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Finet, Achille Eugène (1863-1913)
- Gagnepain, François (1866-1952)
- Figlar, Richard B. (fl. 2000)
ชื่ออื่น ๆ
แก้วมหาวัน (เชียงใหม่); จำปีน้อย (เชียงใหม่); อินทวา (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น