จำปา

Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. champaca

ชื่ออื่น ๆ
จำปากอ, จำปาเขา, จำปาทอง, จำปาป่า (ใต้); ตองสะกา (ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้ต้น เปลือกหนา กลิ่นฉุน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตั้งแต่ครึ่งหนึ่งจนถึงเกือบตลอดความยาวก้าน มีขนนุ่ม ร่วงง่าย มีรอยแผลรอบข้อและที่ก้านใบชัดเจน ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง กลีบรวมสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาว เมล็ดรูปทรงกลมรี สีแสด มี ๑-๖ เมล็ด

จำปาเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ม. เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องตามยาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว แตกกิ่งในระดับสูง ทรงพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศนูนเป็นขีดสั้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๙-๒๓ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งแหลมยาว โคนมนเรียว


เข้าหาก้านใบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนเล็กน้อย ด้านล่างมีขนนุ่ม ใบแก่แข็งและกรอบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๒๒ เส้น เป็นร่องตื้นทางด้านบนและเป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๓.๒ ซม. มีขนนุ่ม หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตั้งแต่ครึ่งหนึ่งจนถึงเกือบตลอดความยาวก้าน มีขนนุ่ม ร่วงง่าย มีรอยแผลรอบข้อและที่ก้านใบชัดเจน รอยแผลยาว ๑.๗-๒.๘ ซม.

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๑-๔ กาบ มีขนสั้น ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ซม.กลีบรวม ๑๒-๑๕ กลีบ สีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้มลักษณะคล้ายกัน กลีบชั้นนอก ๔-๖ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือรูปช้อนแคบ กว้าง ๐.๘-๑.๔ ซม. ยาว ๔-๔.๕ ซม. กลีบชั้นในเรียวแคบและสั้นกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว ๗.๕-๘ มม. ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๒ มม. เรียงเป็นวงล้อมรอบโคนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมีประมาณ ๓๐ รังไข่ แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นสันโค้ง

 ผลแบบผลกลุ่ม เป็นช่อยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านช่อผลยาว ๑-๓ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียวแข็ง มี ๑๐-๓๐ ผล ก้านผลย่อยสั้นมาก ผลย่อยรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี กว้าง ๐.๗-๑.๒ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. เปลือกสีน้ำตาลอมดำ มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาว เมล็ดรูปทรงกลมรี กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม.สีแสด มี ๑-๖ เมล็ด

 จำปามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้นจนถึงป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและมีการคัดเลือกพันธุ์โดยลำดับให้มีทรงต้นเตี้ยลง ดอกดก สีเหลืองอมส้มเข้ม มีขนาดใหญ่ และออกดอกเกือบตลอดปี จนกระทั่งในปัจจุบันต้นที่ปลูกจากการเพาะเมล็ด มีความสูงเพียง ๒ ม. ก็ออกดอกได้สวยงาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จำปา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. champaca
ชื่อสกุล
Magnolia
คำระบุชนิด
champaca
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Baillon, Henri Ernest
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. champaca
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Baillon, Henri Ernest (1827-1895)
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
จำปากอ, จำปาเขา, จำปาทอง, จำปาป่า (ใต้); ตองสะกา (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น