จาสั้น

Paracroton pendulus (Hassk.) Miq.

ไม้ต้น มียางสีแดง กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยงเปลือกมีเกล็ดเล็กมากสีน้ำตาลอ่อนและมีขนรูปดาวใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ มีต่อมโคนใบเล็กมาก ๑ คู่ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามยอด ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมล็ดรูปทรงรีแบน สีน้ำตาล มีลายแต้ม

จาสั้นเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. มียางสีแดงกิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลแกมเทา มีเกล็ดเล็กมากสีน้ำตาลอ่อนและมีขนรูปดาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มักพบหนาแน่นตามบริเวณใกล้ปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๗ ซม. ยาว ๑๖-๔๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนถึงแหลม ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ มีขนรูปดาวตามเส้นใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๙ เส้น ปลายเส้นโค้งจดหยักขอบใบ มีต่อมโคนใบเล็กมาก ๑ คู่ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ก้านใบยาว ๓-๑๖ ซม. มีขนหูใบคล้ายต่อมกลม เล็กมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามยอด ช่อห้อยลง ยาว ๒๐-๔๐ ซม. มีขน ใบประดับช่อแขนงรูปแถบ ยาวประมาณ ๓ มม. และมักมีต่อมเล็กมาก ๑ คู่ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ใบประดับช่อย่อยรูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. ช่อดอกเพศผู้มีดอกเพศผู้อยู่เป็นกลุ่ม ๆ มีขนหนาแน่น ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๓-๔ มม. มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลืองรูปไข่ถึงรูปรี กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ด้านนอกมีขน จานฐานดอกเป็นวงรอบและมีขนเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ มม. อับเรณูเล็กมาก ช่อดอกเพศเมียมักมีดอกเพศเมียอยู่เดี่ยว ๆ ก้านดอกและดอกคล้ายดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๓-๕ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง รูปไข่ถึงรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. จานฐานดอกเป็นวงรอบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ เส้น แต่ละเส้นปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมล็ดรูปทรงรี แบน กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีน้ำตาล มีลายสลับแต้มสีจางและเข้ม

 จาสั้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จาสั้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paracroton pendulus (Hassk.) Miq.
ชื่อสกุล
Paracroton
คำระบุชนิด
pendulus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl (1811-1894)
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์