จามจุรี

Samanea saman (Jacq.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ก้ามกราม, ก้ามกุ้ง, ก้ามปู (กลาง); กิมบี๊ (กระบี่); ฉำฉา, ตุ๊ดตู่, สารสา, สำสา, ลัง (เหนือ); เส่คุ,
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบย่อย ๔-๒๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปแตร สีขาวอมเขียว เกสรเพศผู้สีชมพู โคนสีขาว โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนาน ฝักแก่สีน้ำตาลดำ เนื้อรสหวาน เมล็ดแบน สีน้ำตาล รูปทรงรี

จามจุรีเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๐ ม. แตกกิ่งต่ำกิ่งมีขนาดใหญ่ เรือนยอดแผ่กว้างโค้งตรงกลางและลาดลงหาขอบคล้ายรูปร่ม กว้างได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีเทาขรุขระ แตกเป็นร่องตามยาว ระหว่างร่องเปลือกมีลักษณะคล้ายไม้ก๊อก เปลือกในสีชมพูหรือน้ำตาลอ่อนกิ่งอ่อนมีขนประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. แกนกลางใบยาว ๑๐-๑๘ ซม. ใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน ๒-๕ คู่ บนแขนงมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ๒-๑๐ คู่ คู่ที่อยู่ตรงปลายมีขนาดใหญ่สุดและลดหลั่นลงไปจนถึงคู่ล่างที่มีขนาดเล็กสุดตรงจุดต่อระหว่างคู่ใบย่อยและคู่แขนงใบมักมีต่อมกลมนูนสีคล้ำ เห็นชัดเจน ใบย่อยรูปไข่ รูปรี หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง ๐.๖-๔ ซม. ยาว ๑.๕-๖ ซม. ปลายมน มักเว้าตื้นหรือมีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนเบี้ยวขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไปไม่มีก้านใบย่อย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ๑-๒ ช่อ กว้าง ๕-๖ ซม. ช่อตั้งขึ้น ก้านช่อดอกยาว ๕-๙ ซม. มีดอกจำนวนมาก ดอกวงนอกเล็กกว่าดอกวงใน มีก้านสั้น ดอกกลางช่อมีขนาดใหญ่สุดไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงติดกันคล้ายรูปแตร ยาว ๕-๘ มม. มีขนหนาแน่น ปลายแยกเป็น ๗-๘ แฉก กลีบดอกสีขาวอมเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปแตรยาว ๑-๑.๒ ซม. ส่วนบนมีขนหนาแน่น ส่วนล่างเกือบเกลี้ยง ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก สีชมพู โคนสีขาว โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแบนยาว มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวใกล้เคียงกับก้านชูอับเรณู ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๔ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. หนา ๐.๖-๑.๑ ซม. ตรงหรือโค้งเล็กน้อย ผิวเรียบ ฝักแก่สีน้ำตาลดำ คอดเล็กน้อยเป็นตอน ๆ ระหว่างเมล็ด เนื้อรสหวาน เมล็ดแบน เรียงเป็นแถวตามยาวฝัก สีน้ำตาล รูปทรงรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. หนาประมาณ ๔ มม.

 จามจุรีเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและอเมริกาใต้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก เฮนรี สเลด (Henry Slade) ได้นำพันธุ์จากเมียนมาเข้ามาปลูกในประเทศไทย


เป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๓ นอกจากปลูกเป็นไม้ประดับแล้วยังปลูกกันมากทางภาคเหนือเพื่อใช้เลี้ยงครั่ง เรียกกันว่า ก้ามปู เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ที่โตเร็ว แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาได้ดี ฝักแก่มีรสหวาน วัวควายชอบกิน เนื้อไม้ใช้แกะสลักได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จามจุรี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Samanea saman (Jacq.) Merr.
ชื่อสกุล
Samanea
คำระบุชนิด
saman
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jacquin, Nicolaus (Nicolaas) Joseph von
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jacquin, Nicolaus (Nicolaas) Joseph von (1727-1817)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ก้ามกราม, ก้ามกุ้ง, ก้ามปู (กลาง); กิมบี๊ (กระบี่); ฉำฉา, ตุ๊ดตู่, สารสา, สำสา, ลัง (เหนือ); เส่คุ,
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข