จาก

Nypa fruticans Wurmb

ชื่ออื่น ๆ
อัตต๊ะ (มลายู)
ปาล์มกอ ลำต้นสั้น มีไหล ใบประกอบแบบขนนก ตั้งชูขึ้น เรียงเวียนถี่เป็นกระจุก ใบย่อยมี ๑๒๐-๒๐๐ ใบ เรียงสลับ รูปแถบ ดอกแยกเพศแยกช่อร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ช่อดอกเพศผู้สีเหลือง รูปทรงกระบอก ช่อดอกเพศเมียสีน้ำตาลแกมส้ม รูปทรงกลม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีผลย่อยหลายผลเรียงอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกลม แต่ละผลรูปไข่กลับ มีหลายเหลี่ยมปลายมียอดเกสรเพศเมียติดทน สีดำ เมล็ดรูปทรงรีถึงเกือบกลม มี ๑ เมล็ด

จากเป็นปาล์มกอ สูง ๕-๑๐ ม. ลำต้นสั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐-๖๐ ซม. มีไหลทอดเลื้อยบนผิวดินหรือใต้ดิน แตกกิ่งได้ มักมีกาบใบและก้านใบเก่าติดทน

 ใบประกอบแบบขนนก ตั้งชูขึ้น เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกที่ปลายลำต้น แต่ละต้นมีใบ ๑๐-๑๕ ใบ ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ม. โคนก้านสีน้ำตาลเข้ม เป็นกาบอวบหนาและแข็งคล้ายเนื้อไม้ ด้านบนเป็นร่องรูปตัวยู แกนกลางใบยาว ๕-๙ ม. ใบย่อยมี ๑๒๐-๒๐๐ ใบ เรียงสลับรูปแถบ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ม. ปลายเรียวแหลมโคนตัด เชื่อมติดกับแกนกลางใบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายหนัง ด้านบนเป็นมัน เกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลเป็นระยะตามเส้นใบ เส้นกลางใบแข็ง เส้นใบเรียงขนานกับเส้นกลางใบ ไม่มีก้านใบย่อย

 ดอกแยกเพศแยกช่อร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกกาบใบใกล้ยอด ยาว ๑-๒ ม. ก้านช่อดอกอวบหนา ยาว ๐.๘-๑.๗ ม. ใบประดับและใบประดับย่อยสีน้ำตาลแกมส้ม เป็นกาบหนา เหนียวแข็ง รูปไข่ ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกเพศเมีย ๑ ช่อ อยู่ที่ปลาย ช่อดอกเพศผู้ ๕-๘ ช่อ สีเหลือง รูปทรงกระบอก ปลายมน ยาว ๘-๑๕ ซม. มีดอกเพศผู้จำนวนมาก ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปแถบยาว ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายกลีบโค้งงอเข้า กลีบดอก ๓ กลีบ คล้ายกลีบเลี้ยงแต่มีขนาดเล็กกว่า เกสรเพศผู้ ๓ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน โผล่พ้นวงกลีบเลี้ยงและวงกลีบดอก ช่อดอกเพศเมียสีน้ำตาลแกมส้ม เป็นกระจุกแน่น รูปทรงกลม บานหลังช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้มาก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เห็นชัด รูปใบหอกกลับ มักเบี้ยว กลีบดอก ๓ กลีบ รูปแถบรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ รังไข่ พบน้อยที่มี ๔ รังไข่ แต่ละรังไข่รูปไข่กลับ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายปาก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็งมีผลย่อยหลายผลเรียงอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง


๓๐-๔๕ ซม. แต่ละผลรูปไข่กลับ กว้าง ๗-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. เกลี้ยง สีน้ำตาล มีหลายเหลี่ยมและมีสันเล็ก ๆ ตามยาว ๘-๑๓ สัน ปลายมียอดเกสรเพศเมียติดทนเป็นติ่งหนามโค้งแข็ง สีดำ เปลือกหนามีเส้นใยเหนียว เมล็ดรูปทรงรีถึงเกือบกลม เนื้อในเมล็ดหรือในกะลาสีขาวใส มี ๑ เมล็ด

 จากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าชายเลน และบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นถึง ขึ้นได้ดีในที่โล่งแจ้ง ที่สูงใกล้ระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย

 ประโยชน์ ใบจากอ่อนตากแห้งใช้มวนยาสูบห่อขนม เมื่อปิ้งไฟแล้วมีกลิ่นหอม ใบแก่นำมาเย็บเป็นตับ เรียกว่า “ตับจาก” ใช้มุงหลังคา และนำมาสานทำที่ตักน้ำ เรียกว่า “หมาจาก” น้ำหวานจากช่อดอกใช้ทำน้ำตาล หมักเป็นเหล้า น้ำส้มสายชู ผลที่มีอายุในระยะกลางแก่กลางอ่อนมีเนื้อในเมล็ดอ่อนนุ่ม สีขาวใสเรียกว่า “ลูกจาก” กินได้ ผลแก่ที่เริ่มแตกหน่อจะมีจาวอยู่ข้างใน นำมารับประทานได้เช่นเดียวกับจาวตาลหรือจาวมะพร้าว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จาก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nypa fruticans Wurmb
ชื่อสกุล
Nypa
คำระบุชนิด
fruticans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wurmb, Friedrich von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1742-1781)
ชื่ออื่น ๆ
อัตต๊ะ (มลายู)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์