จันใบมัน

Tarenna pulchra (Ridl.) Ridl.

ไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปใบหอกกลับ หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ยอด ช่อห้อยลงช่อแขนงแตกแขนงแบบแยกสาม ดอกสีขาว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม สีเขียวหรือสีขาว เมล็ดรูปคล้ายผล สีน้ำตาล มี ๑ เมล็ด

จันใบมันเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เปลือกสีเขียว เกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย กิ่งแก่เปลือกสีเทาถึงสีดำหรือสีน้ำตาล เกลี้ยง เรียบหรือเป็นสะเก็ด

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๘-๕.๕ ซม. ยาว ๕-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง โดยทั่วไปมีตุ่มใบอยู่ตามซอกระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบ ก้านใบยาว ๑-๒.๒ ซม. เกลี้ยง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาว ๑.๕-๔ มม. ปลายเรียวแหลม เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่นออกที่ยอด ช่อห้อยลงเป็นช่อหลวม ๆ กว้าง ๕-๖ ซม. ยาว ๗-๘.๕ ซม. ช่อแขนงมีแขนงหลัก ๓-๔ แขนง ออกตรงข้าม แตกแขนงแบบแยกสาม ก้านช่อดอกสั้นและโค้ง ยาวได้ถึง ๑ ซม. แกนช่อและก้านดอกมีขนสั้นประปราย ใบประดับ ๓ ใบ ใบประดับที่อยู่ด้านข้างมี ๒ ใบ เรียงตรงข้าม รูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายแหลม ใบประดับใบกลางรูปสามเหลี่ยม แต่ละช่อแขนงย่อยเป็นช่อกระจุก มี ๓ ดอก มีใบประดับรองรับช่อแขนงย่อยดอกที่อยู่ด้านข้างทั้ง ๒ ดอก มีก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. ใบประดับย่อยเรียงตรงข้ามอยู่ที่โคนรังไข่หรือบนก้านดอกรูปเส้นด้ายหรือรูปสามเหลี่ยมแคบปลายเรียวแหลม ยาว ๑-๒ มม. มีขนกระจายทั่วไป ดอกที่อยู่ตรงกลางมีก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. หรือไร้ก้าน อาจมีหรือไม่มีใบประดับย่อย กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม สั้นกว่ารังไข่ ยาวได้ถึง ๐.๕ มม. มีขนประปราย กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๓-๕.๕ มม. ด้านบนใกล้คอหลอดกลีบดอกด้านในมีขนหนาแน่น ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๕.๕-๗.๕ มม. ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่นที่โคน ด้านนอกมีขนประปราย ขอบมีขนครุย แฉกกลีบบิดเวียนในดอกตูมเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่คอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบ ก้านชูอับเรณูเป็นหลอดแคบและสั้นยาว ๑-๑.๕ มม. เกลี้ยง อับเรณูติดที่ฐาน สีเทาอมสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว ๖-๗ มม. บิดเมื่อดอกบานเต็มที่ จานฐานดอกเห็นชัดล้อมรอบโคนก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปรีหรือรูปคล้ายถ้วย ยาวได้ถึง ๑.๕ มม. มีขนสั้นประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียรวมกันยาว ๐.๙-๑.๓ ซม. โผล่พ้นหลอดกลีบดอกก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว มีขนที่โคน ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู รูปกระสวย ยาว ๕-๗ มม. ปลายแยกเล็กน้อย

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๐.๘-๑.๔ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. สีเขียวหรือสีขาว มีรอยแผลที่เกิดจากกลีบเลี้ยงหลุดร่วงอยู่ที่ปลายผล เมล็ดรูปคล้ายผล กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๗-๙ มม. สีน้ำตาล ด้านบนเป็นแอ่งมีขอบรูปวงแหวน เปลือกเรียบ มี ๑ เมล็ด

 จันใบมันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบบางครั้งพบบนภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันใบมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tarenna pulchra (Ridl.) Ridl.
ชื่อสกุล
Tarenna
คำระบุชนิด
pulchra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas (1855-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย