จันทน์เทศ

Myristica fragrans Houtt.

ชื่ออื่น ๆ
จันทน์บ้าน (ไทยใหญ่)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนประปราย กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อเป็นแผลมียางเหนียวสีแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อนมีกลิ่นหอม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผล ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรีแกมรูปค่อนข้างกลม กลิ่นหอม ค่อนข้างเกลี้ยง สีเขียวอมเหลืองเมื่อแก่สีน้ำตาล เมล็ดทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนานเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีแดง เมื่อแห้งสีเหลืองอมสีน้ำตาลแดง เปลือกเมล็ดแข็ง สีน้ำตาลดำ มี ๑ เมล็ด

จันทน์เทศเป็นไม้ต้น สูง ๔-๑๐ ม. กิ่งอ่อนมีขนประปราย กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อเป็นแผลมียางเหนียวสีแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างของใบอ่อนมีขนประปราย เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยงและสีจางกว่าด้านบน หรือเป็นนวล เส้นกลางใบด้านบนเป็นสันนูนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกเพศผู้มีก้านช่อยาว ๐.๒-๒.๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจะหรือช่อซี่ร่ม ๑-๓ ช่อ แต่ละช่อย่อยมีดอก ๑-๕ ดอก บางครั้งช่อดอกเพศผู้อาจลดรูปเหลือเพียง ๑-๓ ดอก แต่ละดอกมีก้านดอกสั้นหรือเห็นไม่ชัด โดยทั่วไปดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ใบประดับเล็กและร่วงง่าย ดอกอ่อนมีขนประปราย เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ดอกตูมรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๗-๘ มม. กลีบรวมยาว ๗-๙ มม. โคนติดกันเป็นรูปคล้ายคนโท ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๓ แฉก รูปสามเหลี่ยม ไม่เท่ากัน ปลายแหลมก้านชูเกสรเพศผู้ยาว ๒-๒.๕ มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๘-๑๒ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓-๓.๕ มม. อับเรณูติดที่บริเวณปลายหลอดช่อดอกเพศเมียสั้นกว่าช่อดอกเพศผู้ ในแต่ละช่อมีดอกเพียง ๑-๓ ดอก ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ดอกตูมรูปไข่ กลีบรวมรูปร่างและสีคล้ายดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด ยอดเกสรเพศเมียมักแยกเป็นพูเล็ก ๆ ๒ พู



 ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรีแกมรูปค่อนข้างกลมกว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ค่อนข้างเกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่สีน้ำตาล เมล็ดทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกกันว่า “รก” เป็นริ้วสีแดง เมื่อแห้งสีเหลืองอมสีน้ำตาลแดง เปลือกเมล็ดแข็ง สีน้ำตาลดำ มี ๑ เมล็ด

 จันทน์เทศเป็นพืชปลูกในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ มีรายงานว่าถิ่นกำเนิดของพืชชนิดนี้อยู่ในแถบทะเลโมลุกกะหรือทะเลเซรัม

 ประโยชน์ รกและเมล็ดใช้เป็นเครื่องเทศและสมุนไพร รกเรียกว่า ดอกจันทน์ และเมล็ดเรียกว่า ลูกจันทน์หรือลูกจันทน์เทศ กลิ่นหอม รสเผ็ดปร่า ใช้ขับลม บำรุงโลหิต เนื้อผลรสเปรี้ยวและเผ็ดปร่า กินได้ กลิ่นหอม มักทำเป็นผลไม้แปรรูป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์เทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Myristica fragrans Houtt.
ชื่อสกุล
Myristica
คำระบุชนิด
fragrans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Houttuyn, Maarten (Martin)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1720-1798)
ชื่ออื่น ๆ
จันทน์บ้าน (ไทยใหญ่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์