จันดำ

Diospyros venosa Wall. ex A. DC. var. olivacea (King et Gamble) Bakh.

ชื่ออื่น ๆ
โกพนม (ปราจีนบุรี); ข้าวไหม้, ดำ, ไหม้ (ใต้); ดีงู (พัทลุง); ตาดำ (ตราด); นางดำ (สระบุรี); ย่างทราย
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ เปลือกนอกสีดำแตกเป็นสะเก็ด เปลือกในสีเหลืองอ่อน กระพี้สีขาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อหรืออยู่ต่างต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างรี ผลแก่สีเหลืองอ่อน เมล็ดค่อนข้างแบน ด้านในมีสันแหลม ด้านนอกโค้งมน

จันดำเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูง ๕-๒๐ ม. ลำต้นค่อนข้างตรงและมักมีพูพอนตามโคนต้นเปลือกนอกสีดำ แตกเป็นสะเก็ด เปลือกในสีเหลืองอ่อนกระพี้สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้มถึงสีค่อนข้างดำ กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๓.๕-๗ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนมนหรือสอบเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น แต่ละเส้นปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบเป็นร่องทางด้านบนและนูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหพอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อหรืออยู่ต่างต้นออกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๓ กลีบ บางครั้งพบมี ๔ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ด้านนอกมีขนนุ่ม กลีบดอกสีเหลืองอ่อนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดหรือรูปคนโท ด้านนอกมีขนดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖-๑๕ เกสร รวมกันเป็นกลุ่มรอบรังไข่ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๒-๓ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒-๓ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๕ ซม. ผิวแข็งมีจุดประสีน้ำตาลทั่วไป ผลแก่สีเหลืองอ่อน แห้งและเปราะ กลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่เป็นกลีบจุกผลเมล็ดค่อนข้างแบน ด้านในมีสันแหลม ด้านนอกโค้งมน

 จันดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐-๔๕๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงธันวาคมเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros venosa Wall. ex A. DC. var. olivacea (King et Gamble) Bakh.
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
venosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- de Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. olivacea
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (King et Gamble) Bakh.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- de Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus (1806-1893)
ชื่ออื่น ๆ
โกพนม (ปราจีนบุรี); ข้าวไหม้, ดำ, ไหม้ (ใต้); ดีงู (พัทลุง); ตาดำ (ตราด); นางดำ (สระบุรี); ย่างทราย
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และ นางสาวอารี พลดี