จันขน

Tarenna puberula Craib

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามยอด ช่อสั้นตั้งขึ้น ช่อแขนงแตกแขนงแบบแยกสามดอกสีขาวหรือสีขาวนวล ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม สีเขียวสุกสีดำ เมล็ดรูปคล้ายสามเหลี่ยม สีน้ำตาลหรือสีดำมี ๓-๖ เมล็ด

จันขนเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. กิ่งอ่อนกึ่งรูปทรงกระบอก เปลือกสีเขียว ผิวมีขนสั้นประปราย กิ่งแก่เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลเข้ม เกลี้ยง เรียบหรือมีรอยแตกตื้น ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบเรียวหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวอ่อน เกลี้ยงด้านล่างสีจางกว่า มีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยทางด้านล่าง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๓-๗ มม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามยอด ช่อสั้นตั้งขึ้น เป็นช่อแน่น กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. ช่อแขนงมีแขนงหลัก ๒-๓ แขนง ออกตรงข้าม แตกแขนงแบบแยกสาม ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ใบประดับ ๓ ใบ ใบประดับที่อยู่ด้านข้างมี ๒ ใบ เรียงตรงข้าม รูปเส้นด้าย กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ใบประดับใบกลางรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม แต่ละช่อแขนงย่อยเป็นช่อกระจุก มี ๓ ดอก มีใบประดับรองรับช่อแขนงย่อย ดอกที่อยู่ด้านข้างทั้ง ๒ ดอก มีก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนประปราย ใบประดับย่อยเรียงตรงข้ามอยู่ที่โคนรังไข่หรือบนก้านดอกรูปเส้นด้ายหรือรูปสามเหลี่ยมแคบปลายแหลม ยาว ๐.๕-๑ มม. มีขนประปราย ส่วนดอกที่อยู่ตรงกลางไร้ก้านดอก ไม่มีใบประดับย่อย กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาว ๐.๕-๑ มม. ปลายแยก ๕ แฉกรูปเส้นด้าย ยาว ๒-๓ มม. มีขนประปราย กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๔-๔.๕ มม. ส่วนบนใกล้คอหลอดกลีบดอกด้านในมีขนคล้ายไหม ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายแหลม ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มที่ขอบ ด้านนอกมีขนสั้นประปราย แฉกกลีบบิดเวียนในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่คอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบ ก้านชูอับเรณูเป็นหลอดแคบและสั้น ยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยง อับเรณูติดที่ฐาน สีขาว รูปแถบ ยาว ๕-๖ มม. บิดเมื่อดอกบานเต็มที่ จานฐานดอกเห็นชัด ล้อมรอบโคนก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปถ้วย ยาว ๐.๕-๑ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียยาวรวมกัน ๖-๗ มม. โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ช่วงกลางมีขนหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู รูปกระสวย ยาว ๓-๔ มม. ปลายแยกเล็กน้อย

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๙ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. สีเขียว สุกสีดำ เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๗ มม. ผิวด้านนอกโค้ง สีน้ำตาลหรือสีดำ เปลือกขรุขระ มี ๓-๖ เมล็ด

 จันขนเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้พบขึ้นตามป่าดิบ โดยทั่วไปพบบริเวณริมลำธารหรือบริเวณน้ำตก ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันขน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tarenna puberula Craib
ชื่อสกุล
Tarenna
คำระบุชนิด
puberula
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย