จักจั่น

Millettia xylocarpa Miq.

ชื่ออื่น ๆ
กะเจ้ะ, ขะเจาะ, ขะเจ๊าะดอย (ทั่วไป); คะแมด (เชียงใหม่); พี้พง (แพร่); ยะดา (มลายู-ยะลา); ไยยี (กะเหร
ไม้ต้นผลัดใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อนถึงสีม่วงแดงบริเวณโคนกลีบดอกกลีบกลางด้านในมีเยื่อลักษณะคล้ายใบหูติดอยู่ข้างละ ๑ อัน ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ขอบเป็นสันหนา เมล็ดรูปโล่หรือเกือบกลม

จักจั่นเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง ๕-๒๐ ม. เปลือกสีเทา ค่อนข้างเรียบถึงแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ห้อยย้อยลงกิ่งมีช่องอากาศและมีขนรูปดาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๓-๖ ซม. แกนกลางยาว ๓.๘-๑๑ ซม. ใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ปลายเรียวเป็นติ่งแหลม โคนสอบทู่หรือมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เมื่ออ่อนมีขนทั่วไป เมื่อแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง มีขนประปรายบริเวณเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ปลายโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เป็นร่องทางด้านบน เป็นสันทางด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว ๔-๘ มม. หูใบรูปขอบขนาน ยาว ๒-๘ มม. ปลายโค้งเป็นรูปเคียวร่วงง่าย ด้านนอกมีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อยาว ๓.๕-๒๐ ซม. แกนช่อดอกมีขนประปรายถึงหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ถึงรูปใบหอกกว้าง ๐.๕-๒ มม. ยาว ๒-๖ มม. ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๑ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว ๕-๙ มม. มีขนประปราย ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวหรือสีม่วงอ่อนถึงสีม่วงแดง ยาว ๑-๑.๔ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมกว้าง กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่กลับ ปลายเว้าตื้น โคนกลีบด้านในมีเยื่อ


ลักษณะคล้ายใบหูติดอยู่ข้างละ ๑ อัน ด้านนอกมีขนด้านในเกลี้ยง กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ปลายมน โคนสอบเรียวเป็นก้าน ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบคู่ล่างรูปขอบขนานเบี้ยว ปลายตัด โคนสอบเรียวเป็นก้าน ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่นหุ้มรังไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยง อับเรณูยาว ประมาณ ๐.๕ มม. ติดด้านหลัง ก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายโค้งงอลักษณะคล้ายรูปตัวแอล (L)

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ขอบเป็นสันหนา เปลือกผลแข็ง เมล็ดรูปโล่หรือเกือบกลม กว้าง ๑.๑-๑.๓ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. หนา ๔-๕ มม. มี ๒-๓ เมล็ด พบน้อยที่มี ๔-๕ เมล็ด

 จักจั่นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค มักพบขึ้นตามริมลำธาร พื้นที่โล่ง ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ใบแก่บดแล้วอมแก้ปวดฟัน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จักจั่น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia xylocarpa Miq.
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
xylocarpa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
กะเจ้ะ, ขะเจาะ, ขะเจ๊าะดอย (ทั่วไป); คะแมด (เชียงใหม่); พี้พง (แพร่); ยะดา (มลายู-ยะลา); ไยยี (กะเหร
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา