จักค้านหัววอก

Piper suipigua Buch-Ham. ex D. Don

ไม้เลื้อย เถาแก่มีเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มักเบี้ยว ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลดออกที่ยอดหรือออกตรงข้ามใบ ช่อห้อย รูปทรงกระบอกเรียวยาว สีขาวอมเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ รูปทรงรี หรือรูปสามเหลี่ยมมน มียอดเกสรเพศเมียติดทน สุกสีดำ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

จักค้านหัววอกเป็นไม้เลื้อย มีขนประปรายหรือเกลี้ยง ข้อมักโป่ง และมีรากยึดเกาะ เถาแก่มีเนื้อแข็ง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๕-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือรูปหัวใจ มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างบาง แผ่นใบ ๒ ข้าง อาจเท่ากันหรือไม่เท่ากัน ด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีจางกว่า มีขนประปราย เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑-๒ เส้น มักอยู่ห่างจากโคนใบ ๑-๒ ซม. ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน มีขน ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย หูใบรูปใบหอกเรียว มีขน มักแนบติดกับข้างโคนก้านใบ แต่ร่วงง่าย และมักเห็นรอยแผลหูใบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลดออกที่ยอดหรือออกตรงข้ามใบ ช่อห้อย รูปทรงกระบอกเรียวยาว แกนช่อมีขนและมีดอกจำนวนมากเรียงถี่ สีขาวอมเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน ใบประดับหรือใบประดับย่อยไร้ก้านและเป็นแบบก้นปิด รูปกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. ดอกไร้ก้าน ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านช่อยาว ๑.๕-๒ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓-๕ เกสร อยู่เป็นกลุ่ม ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๑ มม. อับเรณูยาว ๐.๔-๐.๖ มม. ช่อดอกเพศเมียกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๔ ซม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียมี ๓-๕ พู มีขน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ รูปทรงรีหรือรูปสามเหลี่ยมมน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. มียอดเกสรเพศเมียติดทน สุกสีดำ ช่อผลรูปทรงกระบอกกว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ก้านช่อยาว ๑.๕-๕ ซม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 จักค้านหัววอกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบตามที่ชื้น ริมลำธาร ใกล้น้ำตก ในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน และจีน

 ประโยชน์ ผลใช้ปรุงอาหาร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จักค้านหัววอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Piper suipigua Buch-Ham. ex D. Don
ชื่อสกุล
Piper
คำระบุชนิด
suipigua
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Buchanan-Hamilton, Francis
- Don, David
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Buchanan-Hamilton, Francis (1762-1829)
- Don, David (1799-1841)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์