จอแส

Duranta serratifolia (Griseb.) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
เทียนหยดหอม, แสต้น (กรุงเทพฯ)
ไม้พุ่ม ลำต้นและกิ่งมักมีหนาม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลม เมื่อแก่สีส้ม เมล็ดมีเกราะแข็ง ๔ อัน ภายในเกราะแข็งแต่ละอันมี ๒ เมล็ด

จอแสเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นและกิ่งมักมีหนาม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๐.๘-๔ ซม. ยาว ๒-๘ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๐ ซม. ใบประดับขนาดเล็ก เห็นไม่ชัด ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายวานิลลา เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว ผิวด้านนอกมีขนละเอียด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ


ยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แผ่กางออก เบี้ยวเล็กน้อย แต่ละแฉกขนาดเกือบเท่ากันรูปเกือบกลม กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. มีขนละเอียด เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดอยู่ภายในบริเวณเหนือกึ่งกลางหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๓-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลมเมื่อแก่สีส้ม เมล็ดมีเกราะแข็ง ๔ อัน ภายในเกราะแข็งแต่ละอันมี ๒ เมล็ด

 จอแสเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ ชอบแดดจัด ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จอแส
ชื่อวิทยาศาสตร์
Duranta serratifolia (Griseb.) Kuntze
ชื่อสกุล
Duranta
คำระบุชนิด
serratifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Grisebach, August Heinrich Rudolf
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Grisebach, August Heinrich Rudolf (1814-1879)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
เทียนหยดหอม, แสต้น (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์