จอกแหน

Lemna trisulca L.

ชื่ออื่น ๆ
แหน (ทั่วไป)
พืชน้ำล้มลุกขนาดเล็ก ลอยต่อกันเป็นสายหรือเป็นกลุ่มอยู่บริเวณผิวน้ำ ใต้น้ำ หรือปริ่มน้ำ ต้นมีลักษณะเป็นแผ่นแบนคล้ายใบ สีเขียวแกมเหลืองรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปรี โคนสอบแคบเรียวยาวคล้ายก้าน ใต้แผ่นอาจมีราก ๑ ราก ดอกแยกเพศร่วมต้น ขนาดเล็กมาก ไร้กลีบ เกิดภายในถุงตรงบริเวณขอบของแผ่นคล้ายใบ ผลแบบผลกระเปาะ มี ๑ เมล็ด ส่วนใหญ่ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ มีการแตกหน่อขนาดเล็กบนแผ่น และขาดหลุดจากกันเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่

จอกแหนเป็นพืชน้ำล้มลุกขนาดเล็ก ลอยต่อกันเป็นสายหรือเป็นกลุ่มอยู่บริเวณผิวน้ำ ใต้น้ำ หรือปริ่มน้ำ ต้นมีลักษณะเป็นแผ่นแบนคล้ายใบ สีเขียวแกมเหลือง รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปรี กว้าง ๑-๕ มม. ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ปลายแหลม มีขอบหยักฟันเลื่อยถี่ โคนสอบแคบเรียวยาวคล้ายก้าน ส่วนที่เป็นแผ่นมีเส้น ๓ เส้น ใต้แผ่นอาจมีราก ๑ ราก ลักษณะเป็นเส้นเรียวและใส ยาว ๒-๓ ซม. แต่ส่วนมากพบว่าไม่มีราก

 ดอกแยกเพศร่วมต้น แผ่นที่ออกดอกมีรูปร่างป้อมและหนา ก้านสั้น มีช่อดอกขนาดเล็ก เกิดภายในถุงตรงบริเวณขอบของแผ่นคล้ายใบ ไร้กลีบ ประกอบด้วยดอกเพศผู้ ๒ ดอก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ดอกเพศเมีย ๑ ดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ขนาดเล็กมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลกระเปาะ ขนาดประมาณ ๑ มม. ภายในมี ๑ เมล็ด ส่วนใหญ่ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมีการแตกหน่อขนาดเล็กบนแผ่น และขาดหลุดจากกันเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่

 จอกแหนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคใต้ พบตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น สระน้ำ คูคลอง หนองบึง ตลอดจนแม่น้ำลำธารที่น้ำไหลเอื่อย ๆ ตามบริเวณผิวน้ำหรือใต้น้ำที่มีน้ำใสนิ่งและเย็นในต่างประเทศพบที่อเมริกา ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลียและเอเชีย ในเขตที่อากาศค่อนข้างเย็นหรือเขตอบอุ่นสามารถแพร่กระจายได้ดีจนกลายเป็นวัชพืช สำหรับในประเทศไทย มีการใช้ประโยชน์โดยนำไปปลูกเป็นไม้ประดับในตู้ปลา ตู้พรรณไม้น้ำ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จอกแหน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lemna trisulca L.
ชื่อสกุล
Lemna
คำระบุชนิด
trisulca
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
แหน (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววีรญา บุญเตี้ย