ง้าว

Bombax anceps Pierre var. cambodiense (Pierre) A. Robyns

ชื่ออื่น ๆ
เก๊ย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไก๊ (กะเหรี่ยง-เหนือ); ง้าวป่า (กลาง); งิ้วผา (เหนือ)
ไม้ต้นผลัดใบ ลำต้นมีหนามแหลมแข็ง รูปกรวยสั้นหรืออาจไม่มี เปลือกสีน้ำตาลอมเทาหรือสีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำ ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปไข่กลับหรือรูปรี มีขนสั้นหนานุ่มคล้ายกำมะหยี่ โดยเฉพาะทางด้านล่าง ก้านใบมีขนยาวนุ่ม ดอกเดี่ยว ออกเหนือรอยแผลใบ สีขาว อาจมีสีเขียวอ่อนหรือสีชมพูอ่อนบ้าง ผลแบบผลแห้งแตก รูปขอบขนาน เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงกลม สีดำ มีขนเป็นใยสีขาวแบบขนแกะมันวาวคล้ายเส้นไหมหนาแน่น

ง้าวเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เรือนยอดรูปทรงกลม ลำต้นเปลา กิ่งและลำต้นมีหนามแหลมแข็งรูปกรวยสั้นหรืออาจไม่มี เปลือกสีน้ำตาลอมเทาหรือสีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำ แตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ดทั่วไป กระพี้สีขาวอมเหลือง ค่อนข้างหยาบ

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง ก้านใบยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีขนยาวนุ่ม ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปไข่กลับหรือรูปรี มีขนาดแตกต่างกัน ใบย่อยด้านนอกขนาดเล็กและสั้นกว่าใบย่อยที่ถัดเข้าไป กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายมนกลมถึงเรียวแหลมสั้นโคนสอบ แผ่นใบมีขนสั้นหนานุ่มคล้ายกำมะหยี่


โดยเฉพาะทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้นแต่ละเส้นปลายโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ ทั้งเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่างก้านใบย่อยยาว ๑-๑.๕ ซม. หูใบเรียวแหลม ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว ออกเหนือรอยแผลใบ พบน้อยมากที่ออกเป็นกระจุก ๒-๓ ดอก ดอกตูมรูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๓-๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ขนาดไม่เท่ากัน มีขนสีขาวทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว อาจมีสีเขียวอ่อนหรือสีชมพูอ่อนบ้าง รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๗-๙ ซม. เมื่อดอกบานกลีบจะโค้งพับ มีขนทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว ๖-๗ ซม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันหุ้มรังไข่และโคนก้านยอดเกสรเพศเมีย เหนือขึ้นไปแยกเป็น ๕ กลุ่ม อับเรณูโค้งรูปไต ติดแบบไหวได้ มี ๑ ช่อง เมื่อแก่บิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขนนุ่ม มีสันตามยาว ๕ สัน มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นหลอดโผล่พ้นเกสรเพศผู้ สีชมพูอ่อน มีขน ยอดเกสรเพศเมียสีชมพูเข้ม มี ๕ พู ชิดกันผลแบบผลแห้งแตก แข็ง รูปขอบขนาน อาจโค้งบ้างเล็กน้อย กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. มีสันตามยาวพอสังเกตเห็นได้ ๕ สัน แก่จัดแตกตามรอยประสาน เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงกลม สีดำ มีขนหนาแน่นเป็นเส้นใยสีขาวแบบขนแกะ มันวาวคล้ายเส้นไหม

 ง้าวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและกัมพูชา

 ง้าวมีลักษณะคล้ายงิ้วป่า (Bombax anceps Pierre var. anceps) ต่างกันที่งิ้วป่าปลายใบย่อยเรียวแหลมสั้น ๆ แผ่นใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบและก้านยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยง

 ประโยชน์ เส้นใยที่หุ้มเมล็ดใช้ยัดฟูก หมอน ทำด้าย เนื้อไม้ใช้ทำของเล่น เรือขุด และเครื่องเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ง้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bombax anceps Pierre var. cambodiense (Pierre) A. Robyns
ชื่อสกุล
Bombax
คำระบุชนิด
anceps
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. cambodiense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Pierre) A. Robyns
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
เก๊ย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไก๊ (กะเหรี่ยง-เหนือ); ง้าวป่า (กลาง); งิ้วผา (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และ นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์