ง้วนภู

Viburnum odoratissimum Ker Gawl.

ชื่ออื่น ๆ
จูมคาน, ตาปลา (เลย); เปล้าเงิน (เชียงใหม่)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ส่วนที่ยังอ่อนมีขนรูปดาวประปราย เมื่อแก่เกลี้ยง เปลือกสีเทาแกมสีน้ำตาลมีช่องอากาศกระจายทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ สุกสีม่วงหรือสีม่วงคล้ำมี ๑ เมล็ด ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปไข่ แบนข้างเป็นร่องและมีสันตามยาว

ง้วนภูเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. ส่วนที่ยังอ่อนมีขนรูปดาวประปราย เมื่อแก่เกลี้ยง เปลือกสีเทาแกมสีน้ำตาล มีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๙ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างเรียบ บริเวณใกล้ปลายใบขอบอาจหยักซี่ฟัน แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้มหรือสีเขียวหม่น ด้านบนเกลี้ยงและอาจเป็นมันวาว ด้านล่างมักมีขนรูปดาวกระจายทั่วไป หรือมีขนหนาแน่นในซอกของเส้นกลางใบกับเส้นแขนงใบบางซอก เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่างมากกว่าทางด้านบน ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. พบน้อยมากที่ยาว ๐.๕ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนรูปดาว

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านช่อยาว ๒-๕ ซม. แกนช่อมีขนรูปดาว ช่อแขนงชั้นแรกมักออกตรงข้ามสลับตั้งฉากตามแกนช่อ ใบประดับรูปใบหอกแคบ กว้าง ๑-๓ มม. ยาวไม่ถึง ๑ ซม. มีขน ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ดอกตูมทรงรูปไข่กลับ เมื่อดอกบานกว้าง ๕-๗ มม. กลีบดอกกางออกและปลายมักโค้งม้วนลงเข้าหาก้าน ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงยาว ประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็กมาก สีเขียวอมน้ำตาล เกลี้ยงหรือมีขนประปราย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังหรือรูปแตร ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลมกว้างและยาว ๑-๓ มม. ปลายมน เกลี้ยงหรือด้านนอกอาจมีขนรูปดาว เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่คอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ มม. อับเรณูสีขาวนวล รูปขอบขนาน ยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก ขอบหยักเป็นพูตื้น ๓ พู สีขาวนวล

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๖-๘ มม. สีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีม่วงคล้ำ มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล มี ๑ เมล็ดทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. แบนข้าง เป็นร่องและมีสันตามยาว

 ง้วนภูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามริมแหล่งน้ำ ในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย. ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ง้วนภู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Viburnum odoratissimum Ker Gawl.
ชื่อสกุล
Viburnum
คำระบุชนิด
odoratissimum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ker Gawler, John Bellenden
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1764-1842)
ชื่ออื่น ๆ
จูมคาน, ตาปลา (เลย); เปล้าเงิน (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์