งิ้วป่า

Bombax anceps Pierre var. anceps

ชื่ออื่น ๆ
ไกร, งิ้วดอกขาว, งิ้วป่าดอกขาว, งิ้วผา (เหนือ); นุ่นป่า (กลาง)
ไม้ต้นผลัดใบ เปลือกสีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำลำต้นมักมีหนามแข็ง รูปกรวยสั้น หรืออาจไม่มี ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปไข่กลับหรือรูปรี ดอกเดี่ยว ออกเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง พบน้อยที่ออกเป็นกลุ่ม ดอกสีขาว อาจพบบ้างที่มีสีเขียวอ่อนหรือสีชมพูอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก แข็ง รูปทรงกระบอกสั้น เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับ สีดำ มีขนเป็นเส้นใยสีขาวแบบขนแกะ ยาวและมันวาวคล้ายเส้นไหม

งิ้วป่าเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำ ลำต้นตรง มักมีหนามแข็ง รูปกรวยสั้น ต้นอ่อนมีหนามมากและลดความหนาแน่นลงจนอาจไม่มีเมื่อโตขึ้น กิ่งแผ่กางออก มีหนาม กิ่งอ่อน อวบสั้น เห็นรอยแผลใบชัดเจน

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มักออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ก้านใบยาว ๑๐-๒๐ ซม. เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ใบย่อย ๕-๗ ใบ ขนาดไม่เท่ากัน ใบย่อยด้านนอกเล็กกว่าด้านในมาก รูปไข่กลับหรือรูปรีกว้าง ๔-๘.๕ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้น ๆ โคนกึ่งรูปลิ่มถึงแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ ซม. หูใบร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่งพบน้อยที่ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒-๔ ดอก ดอกตูมรูปรี กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๔.๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงสีเขียวสด ส่วนโคนอาจมีแต้มสีชมพูเล็กน้อย โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง แคบเข้าเล็กน้อยไปยังส่วนโคน กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๓-๕ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ขนาดไม่เท่ากัน ด้านในมีขนยาวสีขาวกลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว อาจพบบ้างที่มีสีเขียวอ่อนหรือสีชมพูอ่อน รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๗-๙ ซม. ด้านในมีขนประปราย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มคล้ายกำมะหยี่หนาแน่น เมื่อดอกบานกลีบดอกจะโค้งพับลงจนเกือบขนานกับหลอดกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก เป็นกระจุกแน่น ยาว ๖-๗ ซม. ส่วนโคนสุดเชื่อมติดกันเป็นหลอดลักษณะคล้ายจานฐานดอก หุ้มรังไข่และบริเวณตอนล่างของก้านยอดเกสรเพศเมีย เหนือขึ้นไปแยกออกเป็น ๕ กลุ่ม ติดแบบไหวได้ อับเรณูรูปไต มี ๑ ช่อง เมื่อแก่บิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีสันตามยาว ๕ สัน และมีขนสั้นนุ่ม มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก สีชมพูอ่อน เกลี้ยง ยาว ๘-๙ ซม. โผล่พ้นเกสร


เพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียสีชมพูเข้ม มี ๕ พู ชิดกัน

 ผลแบบผลแห้งแตก แข็ง รูปทรงกระบอกสั้น กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. มีสันตามยาว ๕ สัน มักโค้งไปทางด้านหนึ่งเล็กน้อย เมื่อแก่แตกตามสันออกเป็น ๕ ส่วน เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับกว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. สีดำ มีขนหนาแน่นเป็นเส้นใยสีขาวแบบขนแกะ ยาวและมันวาวคล้ายเส้นไหม

 งิ้วป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มักขึ้นบนเขาหินปูนหรือป่าดิบริมชายฝั่งทะเลที่สูงจากระดับทะเล ๙๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและกัมพูชา

 ประโยชน์ เส้นใยที่หุ้มเมล็ดใช้ยัดฟูกและหมอนเนื้อไม้ใช้ทำของเล่นและเครื่องเรือน ทางภาคเหนือใช้เกสรเพศผู้ตากแห้งประกอบอาหาร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งิ้วป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bombax anceps Pierre var. anceps
ชื่อสกุล
Bombax
คำระบุชนิด
anceps
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. anceps
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
ไกร, งิ้วดอกขาว, งิ้วป่าดอกขาว, งิ้วผา (เหนือ); นุ่นป่า (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์