งิ้ว

Bombax ceiba L.

ชื่ออื่น ๆ
งิ้วแดง (กาญจนบุรี); งิ้วบ้าน (ทั่วไป); งิ้วปง, งิ้วปงแดง, สะเน้มระกา (จันทบุรี)
ไม้ต้นผลัดใบ เปลือกและกิ่งอาจมีหนามคมและแข็ง ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปรี ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่มเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง กลุ่มละ ๑-๓ ดอก สีแดง สีแสด หรือสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงกระบอก เปลือกแข็ง เมล็ดรูปทรงกลม สีดำมีปุยสีขาวเป็นมันอัดกันแน่น

งิ้วเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. กิ่งแผ่เกือบตั้งฉากกับลำต้น เปลือกและกิ่งอาจมีหนามคมและแข็งผิวลำต้นเมื่อยังอ่อนมีสีเทาอมเขียว ค่อนข้างเรียบ แล้วแตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้น กระพี้สีขาวอมเหลืองค่อนข้างหยาบ

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง ก้านใบยาว ๑๒-๑๘ ซม. ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปรี ขนาดแตกต่างกัน ใบย่อยด้านนอกเล็กและสั้นกว่าใบย่อยที่ถัดเข้าไป กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายแหลม


หรือเป็นติ่งแหลม โคนสอบหรือมน แผ่นใบหนา มักมีคราบสีขาวทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง หูใบเรียวแหลม ร่วงง่าย ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๒ ซม.

 ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่มเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง กลุ่มละ ๑-๓ ดอก ดอกตูมรูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกขนาดต่าง ๆ กัน ๔ แฉก และมีขนคล้ายเส้นไหมทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ สีแดง สีแสด หรือสีเหลือง รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ระยะแรกกลีบเหยียดออก ต่อมาจะโค้งมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว ๓.๕-๗ ซม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ หุ้มรังไข่และส่วนโคนของก้านยอดเกสรเพศเมีย แบ่งเป็น ๑๐ มัด วงนอก ๕ มัด ขนาดใหญ่กว่าวงใน เกสรเพศผู้ของมัดวงนอกจะโค้งบานออก ส่วนมัดวงในจะแนบไปกับก้านเกสรเพศเมีย อับเรณูโค้ง รูปไต รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นหลอดยาวสีชมพูเรื่อ ๆ โผล่พ้นกลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแผ่เป็น ๕ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก โคนและปลายมนหรือทู่ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. เปลือกแข็ง แก่จัดแตกตามรอยประสาน เมล็ดรูปทรงกลม สีดำมีขนเป็นเส้นใยสีขาวอัดกันแน่น

 งิ้วเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบป่าดิบชื้นของทวีปอเมริกา แพร่กระจายพันธุ์เข้าสู่ทวีปเอเชีย ขึ้นได้แทบทุกสภาพบนพื้นที่สูงจากระดับทะเล ๑๐-๘๐๐ ม.

 ประโยชน์ เส้นใยที่หุ้มเมล็ดใช้ยัดฟูก หมอนทำด้าย ผลอ่อนและดอกใช้เป็นอาหาร เนื้อไม้ใช้ทำของเล่น เรือขุด และเครื่องเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งิ้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bombax ceiba L.
ชื่อสกุล
Bombax
คำระบุชนิด
ceiba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
งิ้วแดง (กาญจนบุรี); งิ้วบ้าน (ทั่วไป); งิ้วปง, งิ้วปงแดง, สะเน้มระกา (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย