งาไซ

Planchonella obovata (R. Br.) Pierre

ชื่ออื่น ๆ
โกงกางบก (ตะวันออก); จันทิตสอ (ทั่วไป); ทีไร, พังกาบก, โพอาศัย, มะดินทราย (ใต้); สันขวาน (เหนือ); อุ
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โคนต้นมักเป็นพูพอน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกกลับหรือรูปรีแกมรูปใบหอก ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบและเหนือรอยแผลใบตามกิ่งแขนง ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม เมล็ดรูปทรงรี สีดำเป็นมัน

งาไซเป็นไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๕-๑๕ ม. กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โคนต้นมักเป็นพูพอน สูงประมาณ ๑ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกกลับหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายสอบหรือเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นห่าง ๆ แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมันเมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ ด้านล่างสีอ่อน เมื่ออ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น แต่ละเส้นค่อนข้างเหยียดตรง ปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๓ ซม. เมื่ออ่อนมีขน

 ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบช่อกระจุก แต่ละช่อมี ๓-๕ ดอก ออกตามซอกใบและเหนือรอยแผลใบตามกิ่งแขนง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. โคนแยกหรือเชื่อมติดกันเล็กน้อยมีขนสีน้ำตาลทางด้านนอก กลีบดอกสีขาวอมเขียวอ่อนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ยาวประมาณ ๑ มม.ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๕ เกสร ติดบริเวณโคนกลีบ เกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ ๕ เกสร รูปเรียวยาว ติดสลับกับเกสร


เพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมมีสันตามยาว ๕ สัน มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นสัน ๕ สัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูเล็ก ๆ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ผลอ่อนสีเขียว แก่จัดสีม่วง มีกลีบเลี้ยงติดทน ขนาดไม่เท่ากัน มีขนสั้นหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ก้านยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดรูปทรงรี สีดำเป็นมัน มี ๕ เมล็ด

 งาไซมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าชายหาดและชายป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี


ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทางภาคเหนือของทวีปออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งาไซ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Planchonella obovata (R. Br.) Pierre
ชื่อสกุล
Planchonella
คำระบุชนิด
obovata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert (1773-1858)
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
โกงกางบก (ตะวันออก); จันทิตสอ (ทั่วไป); ทีไร, พังกาบก, โพอาศัย, มะดินทราย (ใต้); สันขวาน (เหนือ); อุ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางนัยนา วราอัศวปติ และ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย