ค้างคาวหนู

Glycosmis puberula Lindl. ex Oliv. var. subsessilis (Craib) B. C. Stone

ไม้พุ่ม เปลือกเรียบ สีเทาอมขาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓-๕ ใบ หรืออาจลดรูปเหลือเพียงใบเดียว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี แผ่นใบมีต่อมน้ำมันใส กลิ่นหอม ใบแห้งสีเหลืองอ่อน ช่อดอกมักเป็นตอกเคี่ยวหรือมีดอกไม่เกิน ๒ ดอก ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม มักมี ๑ เมล็ด

ค้างคาวหนูเป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ สูง ๑-๔ ม. เปลือกบางเรียบ สีเทาอมขาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓-๕ ใบ หรืออาจลดรูปเหลือเพียงใบเดียว เรียงสลับรูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือสอบเล็กน้อย ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยง มีต่อมน้ำมันใส ๆ กลิ่นหอมกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห พอสังเกต


เห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. เกลี้ยง ใบแห้งสีเหลืองอ่อน

 ช่อดอกมักเป็นดอกเดี่ยวหรือมีดอกไม่เกิน ๒ ดอก ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านดอกสั้นมาก ทั้งกลีบเลี้ยง และกลีบดอกมี ๔(-๕) กลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีขาวโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยเล็ก ปลายแยกเป็น ๔(-๕) แฉก รูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายและขอบกลีบงุ้มเข้าเล็กน้อย เกสรเพศผู้มี ๘(-๑๐) เกสร ติดรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม ขนาดเล็ก เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย สั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลมหรือเป็นลุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. มักมี ๑ เมล็ด

 ค้างคาวหนูเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางและภาคตะวันออกพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๕๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ค้างคาวหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glycosmis puberula Lindl. ex Oliv. var. subsessilis (Craib) B. C. Stone
ชื่อสกุล
Glycosmis
คำระบุชนิด
puberula
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Oliver, Daniel
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. subsessilis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Craib) B. C. Stone
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Oliver, Daniel (1830-1916)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย