ค้อพรุ

Livistona saribus (Lour.) Merr. ex A. Chev.

ชื่ออื่น ๆ
ค้อสร้อย, (กรุงเทพฯ); จะทัง (สุราษฎร์ธานี); ซือแด (มลายู-นราธิวาส); ร๊อก (ตรัง)
ไม้ต้นพวกปาล์มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ลำต้นเดี่ยว ไม่แตกกอ มักมีส่วนของโดนก้านใบติดอยู่ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ใกล้ยอด แผ่นใบรูปค่อนข้างกลมปลายใบห้อยลง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างซอกใบ กาบหุ้มช่อดอกรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ ก้านช่อดอกและแกนช่อดอกมีกาบรูปทรงกระบอก ดอกสีขาวนวล ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือกลมแป้น สีนํ้าเงิน เมล็ดรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด

 ค้อพรุเป็นไม้ต้นพวกปาล์มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ ม. ลำต้นเดี่ยว ไม่แตกกอ เส้นรอบวงที่โคนต้น ๐.๙-๑.๕ ม. มักมีส่วนของโคนก้านใบติดอยู่

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ใกล้ยอด แผ่นใบรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ม. มี ๘๐-๙๐ แฉก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแฉกจักลึกประมาณ ๑ ใน ๓ ของความยาว ปลายห้อยลง ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ม. มีหนามตามขอบ โคนก้านใบเป็นกาบสั้น ขอบมีเส้นใย สานกันหุ้มยอดอ่อน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างซอกใบยาว ๒-๒.๓ ม. โค้งห้อยลง กาบหุ้มช่อดอกรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ มี ๑ กาบ และมีกาบรูปทรงกระบอก หุ้มก้านช่อดอก ๔-๕ กาบ บนแกนกลางในแต่ละช่วงที่แยกแขนงมีกาบรูปทรงกระบอกหุ้มเป็นช่วง ๆ ดอกเล็กสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปพีระมิด มี ๓ ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวปลายแยก เป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือกลมแป้น กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๒-๒.๒ ซม. สีนํ้าเงินผิวบาง เกลี้ยง เมล็ดรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด

 ค้อพรุมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่ จีนตอนใต้ลงมาจนถึงภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใบใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้าน กั้นห้อง และปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ค้อพรุ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Livistona saribus (Lour.) Merr. ex A. Chev.
ชื่อสกุล
Livistona
คำระบุชนิด
saribus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Merrill, Elmer Drew
- Chevalier, Auguste Jean Baptiste
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
- Chevalier, Auguste Jean Baptiste (1873-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ค้อสร้อย, (กรุงเทพฯ); จะทัง (สุราษฎร์ธานี); ซือแด (มลายู-นราธิวาส); ร๊อก (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม