คูลู

Pecteilis henryi Schltr

กล้วยไม้ดิน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอดดอกสีขาว กลีบปากเป็นแฉกฝอยและลึก เดือยกลีบปากเป็นหลอดเรียวยาวและโค้งงอขึ้นคล้ายรูปตัวยู ผลยังไม่พบ

คูลูเป็นกล้วยไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นตามพื้นดินมีหัวใต้ดินสีนํ้าตาลอ่อน รูปรี ยาวประมาณ ๒ ซม. ต้นเหนือดินสูงได้ถึง ๔๘ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ ช่วง ช่วงโคนต้นมีใบ ขนาดเล็ก ๒-๓ ใบ เรียงซ้อนเหลื่อมและหุ้มต้น เหนือขึ้นไปใบขนาดใหญ่กว่า มี ๔-๕ ใบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๑-๑.๗ ซม. ยาว ๔.๕-๘ ซม. ปลายเป็นติ่งหนาม โคนใบหุ้มต้น เส้นใบขนานตามความยาวใบ ๔-๕ เส้น เนื้อใบอ่อน ถัดขึ้นไปจากช่วงที่มีใบขนาดใหญ่ มีใบคล้ายใบประดับ ๔ ใบ เรียงห่างกัน รูปใบหอก ปลายแหลม ยาวประมาณ ๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด มี ๓-๕ ดอก ใบประดับรูปใบหอกกลับและขอบห่อคล้ายเรือ ยาวประมาณ ๓ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี ๓ กลีบ กลีบบนรูปไข่ กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีเส้นกลีบ ๕ เส้น กลีบด้านข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ปลายมนมีเส้นกลีบ ๕ เส้น กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปแถบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. มีเส้นกลีบเส้นเดียว กลีบปากเป็นแฉก ๓ แฉก แฉกกลางรูปคล้ายกระบอง กว้าง ๓-๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ขอบเรียบและม้วนลง ปลายมน แฉกข้างรูป


คล้ายพัด กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบด้านในเรียบ ด้านนอกหยักลึกเป็นเส้นฝอยจำนวนมาก เดือยกลีบปากเป็นหลอดเรียว ยาว ๖-๘ ซม. โค้งงอขึ้นคล้ายรูปตัวยู ปลายป่องเล็กน้อย เส้าเกสรสูงประมาณ ๘ มม. โคนกว้าง อับเรณูแต่ละซีกรูปคล้ายกระบองโค้ง กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. แตกตามยาว กลุ่มเรณูรูปรี ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีก้านยาวประมาณ ๓ มม. ปุ่มปลายก้านรูปเกือบกลมและมีจะงอยยาวเกือบเท่าก้าน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบรูปทรงกระบอก รวมก้านดอกยาว ๔-๕ ซม. มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียนูนโค้งเป็น ๒ พู ที่โคนเส้าเกสรใต้อับเรณู

 ผลยังไม่พบ

 คูลูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออก พบตามป่าโปร่งหรือชายป่า ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐๐-๑,๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คูลู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pecteilis henryi Schltr
ชื่อสกุล
Pecteilis
คำระบุชนิด
henryi
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง