คุย

Willughbeia edulis Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กะตังกะติ้ว (กลาง); คุยกาย, คุยช้าง (ปราจีนบุรี); คุยหนัง (ระยอง); หมากยาง (ศรีสะเกษ)
ไม้เถา มียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง รูปทรงกระบอกแคบ กลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ สีเหลืองหรือสีส้ม เปลือกแข็ง เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก รูปไข่ เรียวไม่มีขน

คุยเป็นไม้เถา มียางสีขาว แยกแขนงมาก กิ่งเกลี้ยงและมีช่องอากาศทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานกว้าง ๑.๒-๑๑.๕ ซม. ยาว ๓.๗-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้นหรือบางครั้งมน โคนรูปลิ่มถึงมนขอบมักเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนและด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๒๘ เส้น มักเป็นเส้นบาง ๆ เรียงขนานกัน ปลายโค้งไปจรดกับเส้นที่อยู่เหนือขึ้นไป ก้านใบยาว ๑-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่งยาวได้ถึง ๒.๘ ซม. ใบประดับรูปกลม ร่วงง่าย ก้านช่อดอกสั้น มีขนละเอียดประปราย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑.๗ มม. ยาว ๑.๘-๒.๖ มม. ปลายมนหรือบางครั้งแหลม มีขนครุยบริเวณขอบหรือเกลี้ยง กลีบดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๓.๘-๖.๕ มม. ช่วงปลายป่องออกเล็กน้อยบริเวณรอบ ๆ เกสรเพศผู้ ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนเรียงเป็น ๕ แถวห่าง ๆ ด้านในมีขนที่บริเวณรอบเกสรเพศผู้ ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมไปทางช้ายในดอกตูม แต่ละแฉกรูปขอบขนาน ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ปลายแหลมหรือมนแฉกกลีบ ดอกด้านนอกอาจมีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก สูงจากฐาน ๒.๓-๓.๓ มม. หรือติดอยู่ ประมาณกึ่งกลางของหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นอับเรณูรูปใบหอกถึงรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๐.๖ มม. ยาว ๑-๑.๔ มม. ปลายแหลม โคนมน เรียงรอบยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กลับ ยาว ๐.๖-๑.๔ มม. ไม่มีขน มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียยาวรวมกัน ๒.๑-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มรูปไข่ถึงรูปกรวย ปลายแหลม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ กว้าง ๑.๓-๖ ซม. ยาว ๑.๗-๖ ซม. สีเหลืองหรือสีส้ม เปลือกแข็ง หนาประมาณ ๑ มม. เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก รูปไข่ เรียว ไม่มีขน

 คุยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (แคว้นอัสสัม) บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 ประโยชน์ เถามีรสฝาด ใช้แก้ประดง เข้าข้อ ลมขัดในข้อ ในกระดูก รากแก้มือเท้าอ่อนเพลีย ต้มน้ำดื่ม แก้โรคบิด ชาวมาเลเซียในรัฐกลันตัน ใช้ยางทาแผลผลกินได้และมีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ ตากแห้งย่างไฟแล้วป่นผสมกับนํ้า ใช้ทาแผล เปลือกแก้ปวดคืรษะ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คุย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Willughbeia edulis Roxb.
ชื่อสกุล
Willughbeia
คำระบุชนิด
edulis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กะตังกะติ้ว (กลาง); คุยกาย, คุยช้าง (ปราจีนบุรี); คุยหนัง (ระยอง); หมากยาง (ศรีสะเกษ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง และ ผศ. ดร.มานิต คิดอยู่