คำเตี้ย

Polygala chinensis L.

ชื่ออื่น ๆ
ปีกไก่ดำ (ทั่วไป); มักกำ (เชียงใหม่); ม้าอีกํ่า, ม้าอีกํ่าแดง (อุบลราชธานี)
ไม้ล้มลุก รากมีกลิ่นหอม ลำต้นตั้งตรงหรือ ทอดเลื้อย ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามซอกใบ ดอกสีขาวถึงสีเหลือง คล้ายดอกถั่วผลแบบผลแห้งแตก รูปหัวใจกลับ ค่อนข้างแบนขอบเป็นปีกแคบ มีขนครุยหรือขนยาวปกคลุม เมล็ดทรงรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ค่อนข้างกลม สีดำ

คำเตี้ยเป็นไม้ล้มลุก รากมีกลิ่นหอม ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย ชูปลายยอดขึ้น สูง ๑๙-๓๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๒.๕ ซม. บางครั้งเป็นพุ่มสูงได้ถึง ๑ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๒-๒.๖ ซม. ยาว ๐.๕-๗ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมหรือแหลม โคนแหลมหรือมน ขอบเรียบและมีขนครุย ผิวใบทั้ง ๒ ด้าน มีขนละเอียด เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๒ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอก ๕-๑๖ ดอก ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่ายแต่ละดอกมีใบประดับย่อย ๒-๓ ใบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๐.๖ มม. ติดทน ก้านดอกยาวได้ถึง ๒ มม. ดอกสีขาวถึงสีเหลือง สมมาตรด้านข้างคล้ายดอกถั่ว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากันกลีบนอก ๓ กลีบ รูปไข่ ขอบมีขนครุย กลีบใหญ่ ๑ กลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. อีก ๒ กลีบ ขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย กลีบเลี้ยงชั้นใน ๒ กลีบ ลักษณะคล้ายปีก รูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายเรียวแหลม โคนกลีบสอบแหลมกลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านบน ๒ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๑.๘ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายกลีบดัด เรียบโคนกลีบมีขน กลีบด้านล่าง ๑ กลีบ ลักษณะคล้ายเรือ ยาว ๔.๕-๕.๕ มม. มีรยางค์คล้ายแปรงที่ปลาย โคนคอดเป็นก้าน กลีบทั้ง ๓ กลีบโคนเชื่อมติดกันเด็กน้อยเกสรเพศผู้ ๘ เกสร ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๓ มม. ส่วนปลายแยก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. อับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปหัวใจกลับ แบนด้านข้าง ขอบมีขนครุย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๓-๕.๕ มม. โค้งงอตรงส่วนปลาย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายตะขอ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปหัวใจกลับ ค่อนข้างแบนกว้าง และยาว ๓-๔ มม. ขอบเป็นปีกแคบ มีขนครุยหรือขนยาวปกคลุม เมล็ดทรงรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ค่อนข้างกลมสีดำ กว้าง ๑.๔-๒.๑ มม. ยาว ๒.๑-๓.๓ มม. มีขนสีเงินเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

 คำเตี้ยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามป่าละเมาะที่ค่อนข้างร้อนและแห้งแล้งตามทุ่งหญ้ากลางแจ้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย

 ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ทั้งต้นต้มนํ้าดื่มขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต บำรุงกำลังทางเพศ ในอินโดนีเซียดื่มแก้โรดหลอดเลือดอักเสบเรื้อรัง ใบชงนํ้าดื่มแก้ไอและหอบหืด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คำเตี้ย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Polygala chinensis L.
ชื่อสกุล
Polygala
คำระบุชนิด
chinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ปีกไก่ดำ (ทั่วไป); มักกำ (เชียงใหม่); ม้าอีกํ่า, ม้าอีกํ่าแดง (อุบลราชธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา