คำรอก

Ellipanthus tomentosus Kurz var. tomentosus

ชื่ออื่น ๆ
กะโรงแดง, หมาตายทากลาก (ตะวันออก); จันนกกด (นครราชสีมา); ช้างน้าว (ราชบุรี, นครราชสีมา); ตานกกดน้อย
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกลดรูปเหลือใบเดียวเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม สีน้ำตาล ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกลุ่มกลมถึงช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีนวลผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ทรงรูปไข่ มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสีเหลืองถึงสีนํ้าตาลอมเหลือง เมล็ดรูปทรงรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี สีดำเป็นมัน มีเยื่อหุ้มโคนเมล็ดสีส้มถึงสีแดงสด

คำรอกเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐(-๓๐) ม. แตกกิ่งตํ่า กิ่งอ่อนมีขนละเอียดหนาแน่น กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกสีนํ้าตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกตามยาวและตามขวาง

 ใบประกอบแบบขนนกลดรูปเหลือใบเดียว เรียงเวียนรูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนมนถึงสอบ ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลโดยเฉพาะตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกลุ่มกลม หรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ แต่ละกลุ่มมีดอกไม่มาก มีขนยาวสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ดอกเล็ก สีขาวหรือสีนวล กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลาย


ตัดหรือแหลม ด้านนอกมีขนยาวหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงกลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน ยาวเป็น ๒ เท่าของกลีบเลี้ยง ปลายม้วนกลับ ด้านนอกมีขนยาวด้านในมีขนยาวนุ่ม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ขนาดไม่เท่ากันโคนก้านชูอับเรณูมีขน เกสรเพศผู้ที่สมบุรณ์ ๕ เกสร ติดบนกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณูยาว อับเรณูรูปหัวใจกว้างเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๕ เกสร ขนาดเล็ก ติดบนกลีบดอกเรียงสลับกับเกสรเพศผู้ที่สมบุรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปไข่ แบนและเบี้ยว มีขนยาว มี ๑ ช่อง ออวุล ๒ เม็ด แต่เจริญเพียงเม็ดเดียว ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลม หรือเป็นแฉกตื้น ๒-๔ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ทรงรูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายเป็นติ่งสั้น โคนคอดเรียวจนคล้ายก้าน เปลือกแข็ง มีขนสั้นนุ่มสีเหลืองถึงสีนํ้าตาลอมเหลืองหนาแน่น มีกลีบเลี้ยงติดทน ก้านผลเป็นข้องอ ยาว ๐.๕-๑ มม. เมล็ดรูปทรงรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. หนา ๗-๘ มม. ปลายทั้ง ๒ ข้างมนสีดำเป็นมันมีเยื่อทุ้มโคนเมล็ดสีส้มถึงสีแดงสด

 คำรอกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบทื่พม่า ภูมิภาคอินใดจีน มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คำรอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ellipanthus tomentosus Kurz var. tomentosus
ชื่อสกุล
Ellipanthus
คำระบุชนิด
tomentosus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. tomentosus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กะโรงแดง, หมาตายทากลาก (ตะวันออก); จันนกกด (นครราชสีมา); ช้างน้าว (ราชบุรี, นครราชสีมา); ตานกกดน้อย
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย