คางแมว

Gmelina asiatica L.

ชื่ออื่น ๆ
ช้องแมว (เหนือ)
ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีหนามแห้ง กิ่งทอดยาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรี ช่อดอกแบบ ช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่ สีเหลืองเป็นมัน เนื้อนุ่ม เมล็ดรูปทรงรี ปลายแยก เป็น ๒ พู

คางแมวเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๓-๘ ม. มีหนามแข็งเรียงเป็นคู่ เปลือกเรียบสีน้ำตาลแกมขาวกิ่งทอดยาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๒-๙.๕ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบหรือหยักตื้น ๓-๕ หยัก แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน ก้านใบยาว ๐.๕-๓ ซม. มีขนนุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๒.๕-๕ ซม. ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. มีขนนุ่ม ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายมนมีขนตามผิวด้านนอก กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๔-๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมน แฉกบนปลายพับกลับและมีขนาดใหญ่กว่า ๓ แฉกล่าง เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากันคู่หนึ่งเป็นหมัน ติดอยู่ภายในหลอดดอกและยาวไม่พ้นปากหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๕-๗ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ พู ขนาดไม่เท่ากัน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่สีเหลืองเป็นมัน มีเนื้อนุ่ม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปทรงรี กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ พู ปลายด้านหนึ่งมน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งแหลม

 คางแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังหรือป่าเต็งรังผสมสน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึง ประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คางแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gmelina asiatica L.
ชื่อสกุล
Gmelina
คำระบุชนิด
asiatica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ช้องแมว (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพงษ์ศักดิ์ พลตรี